วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

แพน (Pan)


ในบรรดาวงศ์โอลิมเปี้ยนมีเทพอยู่องค์หนึ่งไม่เหมือนทวยเทพองค์อื่น โดยมีร่างกายกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ แต่ก็ได้รับการยอมรับเป็นเทพองค์หนึ่งในสวรรค์ชั้นโอลิมปัส มีนามว่า เทพแพน
แพน (Pan) เป็นเทพในระดับหลานของซูส เทพบดี กล่าวคือ เธอเป็นโอรสของเทพ เฮอร์มีส กับนางพรายน้ำ อนงค์หนึ่ง แพนเป็นเทพแห่งทุ่งโล่งและดงทึบ หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทพ แห่งธรรมชาติทั้งปวงก็ไม่ผิด เพราะคำว่า "แพน" ในภาษากรีกแปลว่า "All" หรือทั้งหลายทั้งปวงนั่น แล
เทพองค์นี้มีรูปร่างผิดแปลกกับเทพอื่น ๆ ที่มักสวยสง่างาม เทพแพนเป็นส่วนผสมระหว่างมนุษย์ กับสัตว์ กล่าวคือ ร่างกายหน้าตาเป็นมนุษย์ แต่ท่อนล่างลงไปเป็นแพะ บนศีรษะมีเขาเป็นแพะเช่นกัน และมีหนวดเครา
การที่เทพแพนมีรูปร่างเช่นนี้นั้น มีเหตุผลสนับสนุนอยู่เบื้องหลังด้วย มิใช่ว่าชอบใจจะให้เทพเจ้าของตนมีรูปร่าง เป็นอย่างไร ชาวกรีกก็ว่าไปตามใจชอบมิได้ แต่มีสาเหตุมาจากว่า ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของธรรมชาติอันประกอบด้วย มนุษย์และสัตว์นั่นเอง
ในสมัยแรกเริ่มเดิมที แพนออกจะเป็นเทพที่ร่าเริงและมีความสุขมาก กวีกรีกโบราณพยายามให้ทุกคนมอง เห็นภาพพจน์ของแพนในลักษณะเทพผู้เริงระบำรำฟ้อน สนุกสนานอยู่เสมอ เธอมีพรสวรรค์พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือเป่าหลอดได้ไพเราะมาก จนกระทั่งครั้งหนึ่งเคยประ-ลองขันแข่งกับเทพ อพอลโล เทพแห่งดนตรีกาลเลยทีเดียว หลอดของแพนทำจากต้นอ้อธรรมดา มีลักษณะไม่เหมือนขลุ่ย ภาษาอังกฤษเรียกของสิ่งนี้ว่า Pipe ซึ่งแปลว่าหลอดหรือท่อ
การที่เทพแพนมีเครื่องดนตรีชิ้นนี้ประจำตัวนั้น ได้มีตำนานกล่าวไว้น่าสนใจดียิ่ง กล่าวคือ แพนได้ ไปยลโฉมของ นางพรายน้ำตนหนึ่งเข้า นามว่า ไซรินซ์ (Syrinx) เกิดถูกชะตาต้องใจเป็นอันมาก จึงติดตาม ไปหมายของความรัก แต่นางพรายน้ำไม่ยินดีด้วย เนื่องจากหวั่นกลัวในรูปร่างของแพน เทพแห่งธรรมชาติ จึง วิ่งหนีเตลิดไป แพนก็ออกไล่ตาม จนมาถึงริมน้ำ ครั้นนางพรายน้ำเห็นท่าจวนเจียนหนีไม่พ้นแน่ จึงตะโกนขอ ความช่วยเหลือจากเทพแห่งท้องธาร คำขอร้องของ นางสัมฤทธิ์ผล เทพแห่งท้องธารสงสารนางจึงดลบันดาลให้นาง กลายเป็นต้นอ้อประดับอยู่ริมฝั่งน้ำนั่นเอง เมื่อเทพแพนมาถึง และได้รู้ความจริงก็เศร้าสร้อยมาก จึงเอาต้นอ้อนั้น มาตัดและมัดเข้าด้วยกันใช้เป็นเครื่องดนตรีเป่าอย่างไพเราะสืบมา
และชื่อของนางพรายน้ำตนนี้ ซึ่งแปลว่า หลอดหรือท่อ ยังคงใช้สืบกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ บุตตลิกลักษณะของแพนมาเปลี่ยนแปลงในสมัยที่ศาสนาคริสต์เริ่มแพร่หลาย คือราว 2000 ปีมานี้ ชาวคริสเตียน ทั้งหลายเข้าใจผิดในรูปโฉมของเทพองค์นี้ เพราะออกจะน่ากลัวอยู่ จึงเหมาเอาว่า แพนคงจะเป็นเทพ แห่งความชั่วร้ายน่ากลัวที่ แอบแฝงอยู่ในป่าดิบดงดำ ต่อมาลักษณะอันน่ากลัวของแพนจึงกลายเป็นลักษณะของ ปิศาจร้ายในสายตาชาวคริสเตียนไป และกล่าวว่า ใครเห็นแพนเข้าในป่า เป็นต้องถูกหลอกหลอนให้ตื่นตกใจ กลัวแทบตายไปทุกราย ดังนั้น จึงบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ว่า แพนนิค (Panic) ซึ่งแปลว่าตกใจกลัวจนลนลาน นั่นเอง

เทพ ไดโอนิซัส (Dionysus)


ไดโอนิซัส (dionysus)

หรือ แบกคัส ตามชื่อกรีก ได้รับการยกย่องเป็นเทพองค์หนึ่งในคณะเทพโอลิมเปียน และเป็นที่นับถือของชนทั้งหลายในฐานะเทพผู้พบและครองผลองุ่น ต่อมาเป็นเทพครองน้ำองุ่นตลอดจนความเมาเนื่องจากการดื่มน้ำองุ่นด้วย
ไดโอนิซัส เป็นบุตรของซูสเทพบดี กับนาง สีมิลี ธิดาของแคดมัสผู้สร้างเมืองธีบส์ กับนางเฮอร์ไมโอนี การกำเนิด ของเทพไดโอนิซัสนับว่าน่าสงสารทีเดียว เหตุเพราะความหึงหวงของเจ้าแม่ฮีรา กล่าวคือ
เมื่อเทพปริณายกซูสไปเกิดมีความปฏิพัทธ์พิศวาสนางสีมิลี จึงได้จำแลงองค์เป็นมานพ ลงมาแทะโลมและสมสู่ด้วย ถึง แม้ว่านางจะได้รับแต่คำบอกเล่าของมานพ โดยไม่มีอะไรพิสูจน์ว่ามานพนั้นคือเทพไท้ซูส นางก็พอใจและปิติยินดีไม่ติดใจ สงสัยอันใด ไม่ช้าเรื่องพิศวาสระหว่างซูสเทพบดีกับนางสีมิลีก็แพร่งพรายไปถึงเจ้าแม่ฮีราผู้หึงหวง เจ้าแม่มุ่งมั่นจะให้เรื่องนี้ ยุติเสียทันที
จึงจำแลงองค์เป็นนางพี่เลี้ยงแก่ของสีมิลีเข้าไปในห้องของนาง และชวนคุย พอได้ช่องก็ซักเรื่องเกี่ยวโยงไปถึง เรื่องความรักของนาง และออกอุบายให้นางหลงเชื่อเกี่ยวกับประวัติอันน่าสงสัยของมานพผู้นั้นว่าจะเป็นซูสจำแลงมาจริงหรือไม่ โดยให้มานพนั้นปรากฏกายให้เห็นในลักษณะของเทพเจ้า ซึ่งนางสีมิลีก็หลงเชื่อในที่สุดและตกลงใจที่จะกระทำตามที่พี่เลี้ยง แก่แนะนำ
เมื่อซูสเสด็จลงมาอีก นางสีมิลีจึงหว่านล้อมให้ไท้เธอสาบาน โดยอ้างแม่น้ำสติกซ์เป็นทิพยพยานว่าไท้เธอจะโปรด ประทานฉันทานุมัติตามคำของนางประการหนึ่ง ครั้นไท้เธอสาบานแล้วนางก็ทูลความประสงค์ของนางให้ทราบ ซูสเทพบดีถึงแก่ ตกตะลึงด้วยคิดไม่ถึงว่านางจะทูลขอในข้อฉกรรจ์ถึงเพียงนี้
ไท้เธอตระหนักดีว่า ถ้าไท้เธอสำแดงองค์ให้ปรากฏตามจริง ก็จะ ทำให้นางสีมิลีผู้เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่อาจมีชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ดีไท้เธอก็มีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามสาบานอย่าง เคร่งครัด ไม่มีทางจะบ่ายเบี่ยงได้ ด้วยว่าการละเมิดคำสาบานซึ่งอ้างแม่น้ำสติกซ์อันศักดิ์สิทธิ์เป็นทิพยพยานนั้นย่อมบังเกิดผล ร้ายกับเทพผู้สาบานทุกองค์เหมือนกันหมด ไม่มีที่ยกเว้นแม้แต่องค์เทพบดีซูสเอง
ซูสเนรมิตองค์ให้ปรากฏตามลักษณะประกอบด้วยทิพยาภิสังขารอันเป็นจริง พอนางสีมิลีได้เห็นภาพของไท้เธอ ด้วยตาอันพร่าพราว นางก็ถึงแก่ล้มกลิ้งด้วยไม่อาจทนต่อทิพยอำนาจของไท้เธอได้ และในชั่วพริบตาก็บังเกิดไฟลุกขึ้นเผา ผลาญนางให้วอดวายกลายเป็น จุณไป ในขณะนั้นนางสีมิลีทรงครรภ์อยู่ แม้ซูสไม่อาจช่วยชีวิตของนางไว้ได้ แต่ก็ยังสามารถ ช่วยบุตรได้
ไท้เธอฉวยทารกออกจากไฟฝัง ไว้ในต้นชานุมณฑลของไท้เธอเอง ทารกคงอยู่ในที่นั้นต่อจากที่ได้อยู่ในครรภ์ มารดามาแล้ว จนครบกำหนดคลอด ซูสจึงเอาทารกออก มอบให้นางอัปสรพวกหนึ่งเรียกว่า ไนสยาดีส (Nysiades) เป็นผู้ อนุบาล นางอัปสรพวกนี้เอาใจใส่อนุบาลทารกอย่างทะนุถนอมเป็น อย่างดี ซุสจึงโปรดเนรมิตให้กลายเป็นกลุ่มดาวหนึ่ง เรียกว่า ไฮยาดีส (Hyades) ส่วนทารกน้อยผู้ที่ ถูกนางอัปสรเลี้ยงดู มีชื่อว่า ไดโอนิซัส หรือ แบกคัส นั่นเอง
แม้ว่ากำเนิดแท้จริงของไดโอนิซัสจะเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ แต่ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นเทพอย่าง สมบูรณ์ มีความเป็น อมฤตภาพเช่นเดียวกับเหล่าเทพสภาอื่น ๆ บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัส แต่ไดโอนิซัสรักที่จะ เดินทางท่องเที่ยวไปบนผืนดินอัน กว้างขวางมากกว่า ไปทางไหนก็นำความชุ่มชื้นแห่งสุราเมรัยติดไปด้วย คนที่มองเห็นคุณความดีของเธอพากันเคารพนับถือ ส่วนคนที่ดูถูกเหยียดหยามมักถูกลงโทษ ในฐานะที่เพิ่ง จะดำรงตำแหน่งเทพ ไดโอนิซัสไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ คนนับถือสักเท่าใดนัก ครั้นเวลาผ่านไป และคุณกับโทษของเธอเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น มนุษย์ส่วนใหญ่จึงพากันเคารพนับถือ และสร้างวิหารถวายแด่ เมรัยเทพเป็นการใหญ่
ไดโอนิซัส ทำให้พื้นดินสะพรั่งไปด้วยองุ่นรสเลิศที่ทรงคุณประโยชน์มากหลาย ทำให้ผู้คนอิ่มหนำ และชื่นบาน แต่มีหลายครั้งที่ไดโอนิซัสทำให้คนกลายเป็นวิกลจริตอย่างน่าสมเพช ในจำนวนนี้มีสตรีกลุ่ม หนึ่งซึ่งเรียกว่า เมนาดส์ (Maenads) ซึ่งถูกพิษของเมรัย ทำให้เป็นบ้าหมดสติไปทุกคน ต่างกระโดด โลดเต้นร้องรำทำเพลงไปตามป่าเขาลำเนาไพร อย่างขาดสติ บางครั้งก็มาห้อมล้อมติดสอยห้อยตามไดโอนิซัส ไปด้วย ต่อมาในยุคโรมันเมื่อไดโอนิซัสได้รับชื่อเป็นภาษาละตินว่า แบกคัส (Bacchus) คณานางสติไม่ สมบูรณืเหล่าสตรีก็ได้รับชื่อใหม่ว่า แบกคันทีส(Bacchantes) จึงออกจะเป็นถาพที่ ประหลาดมากที่ชาย หนุ่มรูปงามคนหนึ่งจะเดินทางไปไหน ๆ โดยแวดล้อมด้วยผู้หญิงบ้า
เรื่องราวความรักของไดโอนิซัสก็มีบ้าง แต่เป็นรักที่ลงเอยด้วยความเศร้าสลด คือเธอไปพบและช่วยเหลือนาง อาริแอดนี่ (Ariadne) ธิดาเจ้ากรุงครีตไว้ได้ อาริแอดนี่ ธิดาของท้าว ไมนอสแห่งนตรครีต ซึ่งเลี้ยงอสูรร้ายชื่อ มิโนทอร์เอาไว้ใต้ดิน เมื่อวีรบุรุษ ธีลิอัสเดินทางไปครีตเพื่อเป็นเหยื่อแก่มิโนทอร์ นวลอนงค์ก็เกิดมีใจปฏิพัทธ์กับเจ้าชาย หนุ่ม จึงหาทางช่วยเหลือและพาหนีออกเกาะครีตได้สำเร็จ แต่ทว่านางถูกทอดทิ้งไว้เดียวดายบนเกาะร้างแห่งหนึ่ง ไดโอนิซัส ไปพบเข้าจึงเกิดความสงสารและรักนาง แต่รักได้ไม่นาน อาริแอดนี่ก็ตายลง ไดโอนิซัสสุดเสียใจนัก จึงไม่มีรักใหม่อีกเลย
ตัวของไดโอนิซัสเองก็มีชีวิตแสนเศร้าพอ ๆ กับรักของเธอเอง ใครคิดบ้างว่าเทพที่มีกายเป็นอมฤตภาพก็มีโอกาส ตายได้เช่นกัน นักกวีชาวกรีกโบราณเขาเขียนขึ้นตามความเป็นจริงของต้นองุ่น
กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูเก็บองุ่น ชาวบ้านจะฟันเอากิ่งที่มีองุ่นติดเต็มไปหมด เหลือไว้แต่ต้นโดดเดี่ยว มองดูแล้วน่า สะพรึงกลัว เพราะมีแต่ลำต้นลุ่น ๆ ปราศจากกิ่งก้านสาขา แต่ไม่นานเมื่อเวลาผ่านไป ต้นองุ่นก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับแตกแยก กิ่งก้านและใบสวยงาม ต่อจากนั้นก็ผลิดอกออกผลเป็นที่เจริญตาอีกครั้ง
ฉันใดฉันนั้นเทพไดโอนิซัส ตามตำนานกล่าวว่า เธอถูกยักษ์เผ่าวงศ์ไทแทน ทำร้ายอย่างน่าสยองขวัญด้วยการฉีก ร่างออกเป็นชิ้น ๆ ก็ดั่งต้นองุ่นที่ถูกตัดกิ่งก้านเพื่อเก็บผลของมัน แต่ไม่นานนัก เทพไดโอนิซัสก็จับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ก็ ในเวลาที่เธอฟื้นจากความตายนี่แหละ ที่ใคร ๆ ทั้งเทวดาและมนุษย์ต่างก็ชื่นชมยินดี และจัดงานรื่นเริงฉลองรับขวัญกัน เอิกเกริกและจากการตายนี้เอง ไดโอนิซัสได้ช่วยเหลือมารดาที่เธอไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนจากหัตถ์ของยมเทพ และนำ ขึ้นสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัสได้อย่างปลอดภัย
เรื่องมีอยู่ว่า เทพไดโอนิซัส ได้ติดตามหามารดาในปรโลก เมื่อพบแล้วเธอก็ขอนางคืน มาจากยมเทพฮาเดส แต่มัจจุราชไม่ยินยอม จนเกิดการโต้เถียงกันว่าใครจะเหนือกว่าใคร ไดโอนิซัสบอกคำเดียวว่า ตนนั้นเหนือกว่ามัจจุราช เพราะเธอสามารถตายแล้วคืนชีพได้อีก ไม่ เคยมีเทพองค์ใดกระทำได้อย่างเธอเลย เทพฮาเดสเห็นจริงตามนั้น ก็ยอมมอบนางสิมิลีให้บุตร ชายพาออกจากแดนบาดาลไป เทพไดโอนิซัสจึงพามารดาขึ้นสวรรค์บนโอลิมปัส ที่นั่นเหล่าเทพ น้อยใหญ่ต่างต้อนรับนางสิมิลีเป็นอย่างดี โดยที่นางเป็นอมตขนคนเดียวที่อยู่ท่ามกลางอมตเทพ ทั้งปวงและฮีร่าเทวีก็ทำอะไรมิได้อีก

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

ฮิปนอส (Hypnos)


ฮิปนอส (Hypnos)
เทพแห่งการหลับ ในตำนานเทพเจ้าของกรีก มีชื่อที่ชาวโรมันเรียกว่า ซัมนัส (Somnus) เป็นบุตรชายของ นิค (Nyx) เทพแห่งราตรี และ อีราบอส (Erabos) เทพแห่งความมืด เป็นพี่ชายฝาแฝดของ ทานาทอส (Thanatos) เทพแห่งความตาย โดยทั้งคู่อาศัยอยู่ยังขุมนรก เป็นเทพผู้ช่วยของฮาเดส (Hades) จ้าวแห่งนรก
รูปลักษณ์ของทั้งฮิปนอสและทานาทอส มักเป็นรูปชายหนุ่มเปลือยกาย หน้าตาเหมือนกัน มี
ปีก สยายติดกับศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง ในวัฒนธรรมสมัยนิยม ฮิปนอสถูกสร้างเป็นละครในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง เซนต์เซย่า ปรากฏบทบาทในภาคศึกเทพเจ้าฮาเดส อันเป็นภาคสุดท้ายในฉบับมังงะ โดยฮิปนอสในเรื่องเซนต์เซย่า นี้ ถูกวาดให้มีดวงตาและผมเป็นสีทอง มีดาวหกแฉกคล้ายดาวแห่งเดวิด (Magen David) อยู่กลางหน้าผาก มีนิสัยที่มีความเมตตาและสุขุมกว่าทานาทอส แฝดผู้น้องมาก แต่เป็นผู้ที่จับอะธีนาขังไว้ในไหและสะกดนางให้หลับตอดกาลโดยที่ไม่ตาย ในที่สุดฮิปนอสก็ตายด้วยการร่วมมือกันของ ดราก้อน ชิริว และ ซิกนัส เฮียวงะ ในเรื่องชุดตำนานคธูลู ฮิปนอสถูกกล่าวถึงในฐานะของเอลเดอร์ก็อดตนหนึ่ง

ทานาทอส (Thanatos)


ทานาทอส

(Thanatos ภาษากรีกโบราณ: θάνατος แปลว่า ความตาย) หรือ ออร์คัส (Orcus) ในภาษาลาตินที่ชาวโรมันเรียก เป็นเทพองค์หนึ่งในตำนานเทพของกรีก เป็นเทพแห่งความความตาย เป็นผู้ที่สามารถควบคุมความตายของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลก เป็นบุตรชายของ นิกซ์ (Nyx) เทพีแห่งราตรีและ อีราบอส (Erabos) เทพแห่งความมืด เป็นน้องชายฝาแฝดของฮิปนอส (Hypnos) เทพแห่งนิทรา โดยทั้งคู่อาศัยอยู่ยังขุมนรก เป็นเทพผู้ช่วยของฮาเดส (Hades) จ้าวแห่งนรก
รูปลักษณ์ของทั้งฮิปนอสและทานาทอส มักเป็นรูปชายหนุ่มเปลือยกาย หน้าตาเหมือนกัน ทั้งคู่จะมี
ปีกอยู่ที่ศีรษะคนละข้างสลับกัน มือหนึ่งของทานาทอสมักถือผีเสื้อหรือมาลัยดอกไม้ โดยบทบาทของทานาทอสในเทพนิยาย ทานาทอสจะเป็นผู้รับวิญญาณมนุษย์ไปยังยมโลก แต่ในบางตำนานจะยกบทบาทนี้ให้เฮอร์มีส (Hermes) เทพแห่งการสื่อสาร ปรากฏตอนนึงความว่า ได้ถูกกษัตริย์ซีซิสฟัส (Sisyphus) หลอกล่อจนหลงกลแล้วถูกจับขัง ทำให้ไม่มีคนตาย จนกระทั่งเอรีส (Ares) เทพแห่งสงครามหงุดหงิดที่ไม่มีคนตายในการสู้รบ จึงได้ใช้กำลังปลดปล่อยทานาทอสและพาซีซิสฟัสไปยังยมโลก
เนื่องจากเป็นเทพแห่งความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหวาดกลัว และแม้แต่เหล่าเทพก็ยังรังเกียจทานาทอส จึงนับว่า ทานาทอสเป็น
ปีศาจตนหนึ่งก็ว่าได้ โดยทานาทอสเองก็เกลียดชังมนุษย์และเทพเจ้าอื่น ๆ เช่นเดียวกัน ทานาทอสนั้นเคยต่อสู้กับวีรบุรุษ เฮราคลีส โดยเฮราคลีสนั้นต้องการช่วยเหลือราชินีอัลเคสทิส (Alkestis) ซึ่งยอมสละชีวิตตนเพื่อให้พระสวามี แอดมีตอส (Admetos) มีพระชนม์ชีพยืนยาว เมื่อเฮราคลีสสามารถล้มทานาทอสได้จึงเท่ากับเป็นผู้มีชัยเหนือความตาย ทานาทอสจึงยอมให้อัลเคสทิสมีชีวิตต่อไป

ไทรทัน (Triton)


ไทรทัน (อังกฤษ: Triton)

เป็นชื่อเทพในเทพปกรณัมกรีก โดยเป็นโอรสของโพไซดอน เจ้าสมุทร กับแอมฟิไทรท์ มารดาแห่งท้องทะเล ไทรทันเป็นผู้แจ้งข่าวแห่งท้องทะเล มีร่างกายเป็นเงือก คือ กายท่อนบนเป็นอย่างกายมนุษย์ท่อนบนทั่ว ๆ ไป ส่วนท่อนล่างเป็นหางปลา
อาวุธประจำกายของไทรทันคือ
ตรีศูลเช่นเดียวกับบิดา แต่มักปรากฏในศิลปกรรมต่าง ๆ ว่าถือสังข์ซึ่งเมื่อใช้เป่าดั่งแตรแล้วมีอำนาจบันดาลให้เกิดคลื่นลมในทะเลหรือให้ท้องทะเลสงบลงได้ ว่ากันว่าสังข์ของไทรทันนี้มีเสียงประหลาดชอบกล เมื่อเป่าอย่างแรงแล้วจะบังเกิดเป็นพลยักษ์เตรียมพร้อมประจัน ซึ่งเชื่อว่าเป็นจินตนาการถึงเสียงคำรามของสัตว์ป่า
ตามหนังสือ "เทวกำเนิด" ของเฮซิออด กวีชาวกรีก ว่า ไทรทันนั้นพำนักอยู่กับบิดา ณ สุวรรณปราสาทซึ่งประดิษฐานอยู่ใต้สมุทร ในขณะที่ตำนานของชาวอาโกนอตส์ว่า ไทรทันอยู่ตำหนักที่ชายฝั่งของประเทศลิเบีย และเมื่อพวกตนได้แล่นเรือไปถึงฝั่งทะเลเลสเซอร์ซีตส์ ก็ได้ใช้ใบต่อไปถึงทะเลสาบไทรทันนิส ณ ที่นั้นปรากฏว่าไทรทันซึ่งเป็นเทพประจำถิ่นได้มาชี้ทางให้สามารถผ่านทะเลเมดิเทอร์เรเนียนได้
ไทรทันเป็นบิดาของเทพีพัลลัส และเป็นบิดาบุญธรรมของเทพีอะทีนา ต่อมาเทพีทั้งสองเกิดทะเลาะเบาะแว้งและเข้าต่อสู้กัน สุดท้าย เทพีอะทีนาประหารเทพีพัลลัสได้ นอกจากนี้ บางทีก็มีการกล่าวว่าไทรทันเป็นบิดาของสกิลลาซึ่งเกิดแค่เทพีลาเมีย และยังเชื่อว่าไทรทันเป็นผู้ครอบครองโคตรเพชรแห่งสมุทรที่ชื่อ "ไทรทันส์" ด้วย
อนึ่ง ไทรทันยังปรากฏตัวใน
เทพปกรณัมและมหากาพย์ของโรมันอีกหลายเรื่อง โดยในมหากาพย์อีนีด มิเซนุส ผู้บรรเลงสังข์ประจำตัวเอนีแอส เหิมเกริมบังอาจขอประลองเป่าสังข์กับเทพไทรทัน ไทรทันจึงจับเขาทุ่มดิ่งลงมหาสมุทรถึงแก่ความตาย
สำหรับชาวโรมันแล้ว นิยมทำรูปปั้นไทรทันไว้คู่กับบ่อ
น้ำพุ เซ็กส์ทุส พรอเพรอทีอุส กวีโรมัน พรรณนาถึงบ่อน้ำพุที่ประดับด้วยรูปปั้นไทรทันว่า อุดมไปด้วย "ศัพทสำเนียงของกระแสน้ำที่พวยพุ่งตรงออกมาจากโอษฐ์แห่งไทรทันนั้นซ่านกระเซ็นไปรอบ ๆ บ่อ "
สมัยต่อมายังมีการบัญญัติศัพท์สำหรับเรียกอมนุษย์ที่มีลักษณะคล้ายเงือกว่า "ไทรทันเนส" (อังกฤษ: Tritones) ซึ่งคำนี้อาจหมายถึงที่มีเพศผู้หรือเพศเมียก็ได้ ซึ่งปรากฏการบรรยายลักษณะของอมุนษย์ดังกล่าวไว้ในบันทึกของโพซาเนียส นักผจญภัย ว่า "เหล่าไทรทันเนสมีรูปพรรณดังต่อไปนี้ บนศีรษะของพวกมันมีขนคล้ายกับศีรษะของกบในหนอง ที่คล้ายไม่ใช่แต่สีสันเท่านั้น แต่การที่สามารถแยกขนเส้นหนึ่งออกจากเส้นได้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน ร่างกายส่วนที่เหลือเป็นแต่ตะปุ่มตะป่ำประดุจปลาฉลาม มีหงอนและจมูกอย่างของมนุษย์อยู่เบื้องล่างหูของพวกมัน แต่ส่วนปากนั้นกว้างใหญ่ และมีฟันแหลมคมอย่างของสัตว์ดุร้าย ดวงตานั้นเล่าข้าพเจ้าก็เห็นเป็นสีฟ้า นอกจากนี้ พวกมันยังมีมือ มีนิ้ว และมีเล็บสัณฐานดั่งเปลือกของทากทะเล ถัดจากแผ่นอกและช่วงท้อง แทนที่จะเป็นขาเยี่ยงคนเรา กลับปรากฏเป็นหางดั่งปลาโลมา"
ต่อมาหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นต้นมา มีหลายสิ่งหลายอย่างได้รับการขนานนามตามชื่อของไทรทัน ในจำนวนนั้นได้แก่ พระจันทร์ไทรทัน พระจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพระเกตุหรือดาวเนปจูน การตั้งชื่อนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์ ด้วยเนปจูนนั้นเป็นอีกชื่อหนึ่งของโพไซดอน บิดาของไทรทัน
บทร้อยกรองซอนเนตของวิลเลียม เวิดส์เวิร์ท ชื่อ "เดอะเวิลด์อิสทูมัชวิทอัส" (อังกฤษ: The world is too much with us) รำพันถึงความจำเจอันน่าเบื่อของโลกสมัยใหม่ โดยปรารถนาซึ่ง

สายตาที่พาฉัน
ลืมวานวันอันทุกข์ทน
ได้เห็นเทวันวน
จากชลธารผ่านฉันมา
ได้ฟังเสียงสังข์สวรรค์
จากไทรทันที่ฝันหา
ร่ำแตรแผ่วิญญาณ์
พาดื่มด่ำปลื้มฉ่ำใจ


ชื่อของไทรทันยังได้รับการนำไปตั้งให้แก่เครื่องกลอย่าง เครื่องจักรไทรทันของ
ฟอร์ด และรถบรรทุกแบบมีกระบะรุ่นไทรทันของมิตซูบิชิ
นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. 2532 ไทรทันยังได้รับการดัดแปลงเป็นตัวละครหลักในการ์ตูนของวอลต์ดิสนีย์เรื่อง "เจ้าหญิงเงือกน้อย" โดยเป็นเจ้าสมุทรผู้ปกครองดินแดนใต้สมุทร "แอตแลนทิคา"

สามเทพสุภา (Three Judges of Hades World)


สามเทพสุภา(อังกฤษ: Three Judges of Hades World)

คือ 3 ผู้พิพากษาความดีชั่วของผู้ที่เสียชีวิตลงตามเทพปกรณัมของกรีก ประกอบไปด้วย ราดาแมนทีส (Radamanthys) ไมนอส (Minos, ภาษากรีก Μίνως) และไออาคอส (Aiacos, Aeacus ภาษากรีกแปลว่า ค้ำจุนโลก)
ราดาแมนทีสกับไมนอส เป็นพี่น้องกัน ทั้งคู่เป็นบุตรของ
ซุสและยูโรปา ทั้งคู่เมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นกษัตริย์ เมื่อตายลงจึงได้เป็นผู้พิพากษาในยมโลก ส่วน ไออาคอส เป็นบุตรของซุสกับอีคิดน่า แต่เดิมก็เป็นกษัตริย์เช่นกัน เป็นกษัตริย์ที่ทรงความยุติธรรม เมื่อตายลงจึงได้เป็นผู้พิพากษาเช่นเดียวกับราดาแมนทีสและไมนอส โดยจะทำหน้าที่แตกต่างออกไป ราดาแมนทีส จะพิพากษาวิญญาณผู้ที่ตายจากภาคตะวันออก ไออาคอสจะพิพากษาวิญญาณชาวกรีกและเฝ้าประตูนรก ส่วนไมนอส จะเป็นผู้พิจารณาความดีชั่วเป็นเบื้องต้น

เนเมซิส(Nemesis)


เนเมซิส เป็นเทพี แห่งการล้างแค้น ความผิดและกรรมชั่ว


ความผิดทั้งหลายสมควรต้องได้รับโทษตอบแทน จึงจะชอบด้วยความยุติธรรม ชาวกรีกและโรมันคิดเช่นนี้ และเห็นว่าความพยาบาทหรือการล้างแค้นอันชอบธรรมก็เป็นกิจที่เทพเจ้าพึงบำเพ็ญต่อมนุษ ย์เช่นกัน เขาจึงแต่งตั้งเทพีแห่งความพยาบาทหรือการสนองกรรมขึ้นโดยมีนามว่า "เนเมซิส(Nemesis)"
เนเมซิส เป็นเทพีสาวที่ออกมาลงโทษคนที่ทำผิดศีลธรรมทำกรรมชั่ว คนที่หยิ่งผยอง หรือคนที่ปฏิเสธพรของเทพเจ้า หรือไม่ก็คนที่เห็นแก่ตัวไม่ยอมเอื้อเฟื้อแก่คนอื่น แต่จะให้ผลตอบแทนที่ดีแก่คนดีและผู้ทรงคุณธรรมทั่วไป และคนที่ต้องการล้างแค้นจึงจะมาให้เทพีเทเมซิสช่วยล้างแค้นให้ด้วย
เนเมซิส เป็นลูกสาวของ นิกซ์(Nyx) เทพีแห่งรัตติกาล หรือราตรีเขาว่ากันว่าบิดาของเธอคือ โอเชียนัส(Oceanus) เนเมซิส นั้นได้ชื่อว่าสวยพอๆกับ อโฟรไดท์(Aphrodite) เทพีแห่งความงามและความรัก ความสวยของเธอไปเข้าตาของจอมเทพ ซุส(Zeus) เข้า แต่เนเมซิสไม่อยากจะไปยุ่งเกี่ยวกับ ซุส เธอก็เลยแปลงร่างหนีทุกครั้งที่เธอเห็น ซุสเข้ามาใกล้ บางตำราก็บอกว่าสุดท้ายเธอแปลงร่างเป็นห่าน แต่ซุส รู้ทันแปลงร่างเป็นหงส์และจับคู่กับเธอ เนเมซิสวางไข่ไว้ในกอหญ้า 1 ฟอง คนเลี้ยงแกะมาพบไข่ฟองนี้เข้าจึงนำไปถวายพระนางลีดา (Leda) นางลีดา เก็บไข่ฟองนั้นเอาไว้ในกล่อง และเมื่อเด็กน้อยฟักออกมาจากไข่ นาง ลีดา ก็ให้ชื่อว่า"
เฮเลน (ทรอย)"และเลี้ยงดูเด็กคนนั้นเหมือนเป็นบุตรีของตนเอง หนูน้อย เฮเลนคนนี้เมื่อโตขึ้นมาก็คือแม่สาวที่ทำให้เกิดสงครามกรุงทรอย(Trojan War)ขึ้น
บางตำรากล่าวว่า ซุส หลงรักเนเมซิส แต่เมื่อ เนเมซิส ไม่ยอม พระองค์ก็เลยไปขอความช่วยเหลือจาก อโฟรไดท์ ให้ อโฟรไดท์ แปลงร่างเป็นนกอินทรีเข้าโจมตีตัวเองที่แปลงร่างเป็นหงส์ หงส์ปลอมก็ทำเป็นบินร่อแร่มาหา เนเมซิส ใจดีอุ้มหงส์เจ้าเล่ห์เอาไว้ พอเนเมซิสหลับ ซุส ในร่างหงส์ก็มีความสัมพันธ์กับเธอ พอเนเมซิส คลอดก็คลอดลูกออกมาเป็นไข่ เทพ
เฮอร์มีส(Hermes) ก็รีบมาเอาไข่นั้นไปที่เมือง สปาร์ตา (Sparta) แล้วโยนไข่ฟองนั้นไปที่ตักของพระนางลีดา แล้วเฮเลน ก็กระโดดออกมาจากไข่ใบนั้นนั่นเอง (แต่ส่วนใหญ่กล่าวว่าเฮเลนเป็นพระธิดาของพระนางลีดาเอง)
แต่บางตำรากล่าวถึงเนเมซิสแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง คือบอกว่า รูปลักษณะของเทพีองค์นี้เป็นหญิงที่มีหน้าตาแสดงความเหี้ยมเกรียม ถืองาและล้อเกวียณ บางทีก็มีปีกด้วย แสดงว่าองค์เทพีเนเมซิสจะตามตอบแทนผู้ทำความผิดไปทั่วทุกหนทุกแห่งอย่างไม่ลดละ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำหรือบก ดังที่งาและล้อเกวียณเป็นเครื่องหมายแสดงอยู่
ที่กรุงโรมมีรูปอนุสาวรีย์ของเทพีเนเมซิสประดิษฐานอยู่ในรัฐสภาทีเดียว เมื่อจะประกาศเมื่อจะประกาศศึกต่อศัตรู จะมีพิธีบวงสรวงพระนางก่อน เพื่อให้เป็นที่ปรากฏว่า พวกเขาทำศึกโดยเหตุผลอันชอบธรรมที่สุดเสมอ

เพอร์ซิโฟเน(Persephone)


เพอร์ซิโฟเน หรือ โพรเซอพิน่า (Persephone)
เป็นธิดาของดีมิเตอร์เทวีแห่งธัญพืชและการเกษตรกับเทพซุส พระนางมีทั้งรูปโฉมที่สวยสะคราญและน้ำเสียงอันไพเราะที่สามารถปลุกชีวิตชีวาให้แก่ธรรมชาติ เหล่าสัตว์ป่ามักจะชอบเข้ามาคลอเคลียกับพระนาง ไม่ว่าเยื้องกรายไปทางไหน พืชพันธุ์ที่เคยเหี่ยวแห้งก็จะฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ เทพีดิมิเตอร์จึงรักพระธิดาองค์เดียวอย่างสุดสวาทขาดใจ
ในยามเยาว์เพอร์ซิโฟเนมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะประพฤติตนเป็นเทพพรหมจารย์เช่นเดียวกับ
เฮสเทีย ผู้เป็นป้า และอธีน่ากับอาร์ทีมิสผู้เป็นพี่สาว แต่ความตั้งใจนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่เทพีอโฟรไดต์ ผู้เป็นเทวีแห่งความรักเป็นอย่างมาก เพราะการมีเทพที่ประพฤติตนเป็นพรหมจารีย์มากถึง 3 องค์นั้นมากเกินพออยู่แล้วสำหรับนาง ประกอบกับในขณะนั้นฮาเดสเทพแห่งโลกใต้พิภพเองก็ไร้คู่ เนื่องจากไม่มีเทวีองค์ใดต้องการที่จะลงไปใช้ชีวิตอยู่ใต้พิภพที่มืดมิดและเงียบเหงา อะโฟรไดต์จึงส่งอีรอส หรือ คิวปิด ไปหาโอกาสทำให้เทพฮาเดสและเทวีเพอร์ซิโฟเนหลงรักกันให้ได้
จนกระทั่งวันหนึ่งเทพ
ฮาเดสแห่งยมโลกได้ขึ้นมายังพื้นโลก อีรอสจึงยิงลูกศรกามเทพปักอกเทพแห่งยมโลกอย่างจัง และคนแรกที่เทพฮาเดสได้พบก็คือ เทวีคนงาม เพอร์ซิโฟเน นั่นเอง ทำให้เทพฮาเดสหลงรักเทพีผู้เป็นหลานสาวอย่างสุดหัวใจ ทันใดนั้นเองเทพฮาเดสก็ได้ตัดสินใจคว้าร่างเทพีเพอร์ซิโฟเน่ขึ้นมาบนรถม้า และตรงดิ่งลงไปยังใต้พิภพและแต่งตั้งนางให้เป็นราชินีแห่งโลกใต้พิภพ
เทพีดิมีเทอร์เศร้าโศกเสียใจอย่างหนักที่ธิดาสุดที่รักหายตัวไปจนกระทั่งพืชผลเหี่ยวแห้งทั่วโลก ชาวมนุษย์เดือดร้อนอดตายเป็นจำนวนมาก เทพซุสจึงเรียกตัวพี่ชาย เทพฮาเดส ขึ้นมา เพื่อขอเทพีเพอร์ซิโฟเนคืน แต่ทว่าในระหว่างที่อยู่ในยมโลก เทพีเพอร์ซิโฟเนได้เสวยอาหารทิพย์เม็ดเล็กๆ หรือในบางตำนานว่าเมล็ดของ
ผลทับทิมของยมโลกไป 3 เมล็ด ซึ่งผู้ใดได้รับประทานอาหารชนิดนี้ไปแล้วจะต้องผูกพันอยู่กับโลกใต้พิภพและจะจากไปไม่ได้ เทพซุสจึงทำข้อสัญญาตกลงกันว่า จะให้เทพีเพอร์ซิโฟเนอยู่บนโลกตามใจชอบเป็นเวลา 9 เดือน จากนั้นก็ให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ยมโลกเป็นเวลาอีก 3 เดือน ซึ่งในระหว่างที่ธิดาไม่อยู่ เทพีดิมีเทอร์ก็จะเศร้าโศก พืชผลก็จะปลูกไม่ขึ้น แห้งแล้ง แต่เมื่อองค์ธิดากลับมาสู่อ้อมอก พืชผลก็จะกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฤดูกาลนั่นเอง
เทพีเพอร์ซิโฟเน ยังเป็นเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิด้วย

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

อีรอส (Eros)


คิวปิด (Cupid) หรือ อีรอส (Eros)
เป็นเทพเจ้าแห่งความรักของโรมัน นิยมเรียกในภาษาไทยว่า "กามเทพ" มักวาดภาพเป็นเด็กชายตัวจ้ำม่ำ เปลือย มีกระบอกศรอยู่ข้างหลัง ในมือถือคันศร หรือกำลังน้าวศร
ตำนานเล่าความเป็นมาของเทพเจ้าองค์นี้ต่างๆ กันไป คิเคโร (Cicero) ได้เล่าไว้ 3 ทางด้วยกัน ทางหนึ่งว่า เป็นโอรสของเมอร์คิวรี (
เฮอร์มีส) และเทพีไดอานา (อาร์ทีมิส) อีกทางหนึ่งว่า โอรสของเมอร์คิวรี และวีนัส (อโฟรไดท์) และอีกทางหนึ่งว่า เป็นโอรสของมาร์ส (เอรีส ตามปกรณัมของกรีก) และวีนัส
สำหรับพลาโตว่าไว้สองทาง ขณะที่ในเธโอโกนีของ
เฮสิออด ซึ่งเป็น ตำราเทวภูมิศาสตร์ (theoography) ที่เก่าแก่ที่สุดของกรีกโบราณ ระบุว่า คิวปิด ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับเคออส และโลก
ในตำราเกี่ยวกับเทพเจ้าโบราณโดยทั่วไป ระบุว่ามีคิวปิดสององค์ หรือสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งว่าเป็นโอรสของจูปิเตอร์ (
เซอุส) และวีนัส อีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นโอรสของนีกซ์ และเอเรบุส
ในตำนานการกำเนิดของคิวปิดส่วนใหญ่ที่ปรากฏบอกไว้ว่า เทพีวีนัสหรืออโฟรไดท์ ได้ลักลอบเป็นชู้กับเทพสงครามเอรีส (เนื่องจากฝ่ายหญิงได้สมรสแล้วกับเฮเฟสทัส เทพแห่งการช่าง แต่เทพีวีนัสไม่พอใจ เพราะเทพสวามีเอาแต่ขลุกตัวอยู่กับงานของตน อีกอย่าง พระนางก็พอใจเทพเอรีสมาแต่แรก แต่ที่ได้แต่งงานกับเทพเฮเฟสทัสเพราะเทพซีอุสยกพระนางให้เป็นรางวัลแก่เทพเฮเฟสทัส) จนกระทั่งมีโอรส ให้นามว่า คิวปิด หรือ อีรอส กล่าวกันว่า คิวปิดติดแม่มาก และเชื่อฟังแม่ทุกอย่าง เห็นเทพีวีนัสที่ใดก็ต้องมีโอรสคู่ใจอยู่ด้วยเสมอ แต่เวลาก็ล่วงเลยมานาน กามเทพที่สมควรจะเติบโตเป็นหนุ่มกลับไม่ยอมเติบโตขึ้นตามกาลเวลา เทพีผู้เป็นมารดาหนักใจมากจึงไปปรึกษาเทวี
ธีมิสแห่งความยุติธรรม พระนางจึงได้คำตอบว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะคิวปิดเหงา ไม่มีเพื่อนเล่น หากคิวปิดมีน้อง กามเทพน้อยก็จะเติบโตเอง ไม่นานจากนั้น เทพีอโฟรไดท์ก็มีโอรสอีกองค์กับเทพเอรีส ให้นามว่า แอนตีรอส (เทพแห่งการรักตอบ) คิวปิดจึงเติบโตขึ้นตามเวลา แต่เหล่าศิลปินยังคงปั้นคิวปิดเป็นเด็กอยู่เช่นนั้นเอง

ความรักของคิวปิด
ความรักครั้งแรกและครั้งเดียวของกามเทพหนุ่มเริ่มขึ้นด้วยความริษยาของเทพีผู้เป็นมารดา เทพีวีนัสนั่นเอง ครั้งหนึ่งในยุคกรีกโบราณ พระราชากรีกพระองค์หนึ่งมีพระธิดาทั้งหมดสามองค์ พระธิดาองค์พี่ทั้งสองมีความงดงามสะคราญยิ่งนัก แต่ทว่าความงามใดเลยจะมาสู้ธิดาองค์เล็กที่มีนามว่า
ไซคี (Psyche) ได้ พระบิดาพระมารดารวมทั้งผู้คนทั่วนครต่างพากันชื่นชมความงดงามของไซคี จนพระพี่นางทั้งสองต่างพากันอิจฉาริษยาไซคีในใจ
แต่ความงามเหนือใครของไซคีนี่เอง ทำให้เรื่องร้ายมาถึงตัว เพราะ
เทพีวีนัส เทพีแห่งความงามเกิดความริษยาเจ้าหญิงชาวมนุษย์ขึ้นมาจับใจ เพราะพระนางคิดว่าตนคือผู้มีความงามยิ่งกว่าใครมาตลอด แต่ตอนนี้ ชาวเมืองกลับยกย่องไซคีจนล้ำเส้นตำแหน่งพระนาง ของบวงสรวงให้แก่เทพีวีนัสก็ไม่มีเพราะผู้คนต่างไปชมโฉมเจ้าหญิงไซคีกันหมด เทพีวีนัสจึงคิดแผนการร้ายแรงเพื่อทำลายไซคีขึ้นมา เพื่อไม่ให้ผู้ใดใฝ่ฝันถึงนางอีก โดยที่พระนางได้สั่งให้คิวปิดผู้เป็นโอรสแผลงศรความรักให้ไซคีตกหลุมรักชายผู้มีนิสัยชั่วช้าที่สุดในแผ่นดินสักคน หรือบางตำนานก็กล่าวว่า ให้นางหลงรักอสุรกายน่ารังเกียจ แต่จุดหมายก็เพื่อให้เจ้าหญิงไซคีต้องทนทุกข์ทรมาณอย่างสาหัสสมใจพระนาง
แม้จะไม่อยาก แต่คิวปิดก็กลัวแม่และเชื่อฟังมามาตั้งแต่ต้น กามเทพหนุ่มจึงจำยอมทำตามแผนการของเทพีวีนัสอย่างช่วยไม่ได้ คิวปิดบินเข้าในที่ประทับของไซคีเมื่อนางหลับ และเตรียมพร้อมจะยิงลูกศรรักในมือใส่นางตามแผนการ แต่ทว่าด้วยความงดงามของไซคีทำให้คิวปิดถึงกับตะลึงค้างชมโฉมนางอยู่พักใหญ่ และเมื่อไซคีพลิกตัว กามเทพหนุ่มก็สะดุ้งตกใจจนศรรักในมือปักเข้าถูกร่างกายตนเอง ทำให้เป็น คิวปิด ที่หลงรักไซคีจนถอนตัวไม่ขึ้น
คิวปิดต้องพบกับสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็คือมารดาที่เคารพรักอย่างสูง แต่อีกฝ่ายก็คือหญิงที่รักสุดหัวใจ สุดท้ายกามเทพหนุ่มจึงขอความช่วยเหลือลับๆจากเทพเจ้าองค์อื่นๆ ในการอยู่กินกับไซคีโดยไม่ให้เทพีวีนัสรู้
แผนการขั้นที่หนึ่งของคิวปิดเริ่มขึ้น ด้วยการขัดขวางไม่ให้มีใครมาสู่ขอไซคี เวลาผ่านพ้นไปนาน พระพี่นางทั้งสองได้
แต่งงาน ออกจากเมืองไป เหลือแต่ไซคีที่ยังเปล่าเปลี่ยวไม่มีใครมาสู่ขอ เพราะต่างก็คิดกันว่านางสูงเกินกว่าจะเอื้อมถึง พระบิดาของไซคีจึงบวงสรวงขอคำทำนายจากวิหารเดลฟีของเทพอพอลโล เพื่อหาคำตอบว่าเนื้อคู่ของไซคีเป็นใคร
แต่คำทำนายที่ได้มากลับทำให้ผู้คนทั่วนครตระหนกอย่างมาก เพราะมันได้กล่าวว่า เนื้อคู่ของไซคีเป็นอสุรกายที่น่าเกลียดน่ากลัวที่ไร้เทียมทานไม่มีผู้ปราบได้ ซึ่งตอนนี้กำลังรอคอยนางอยู่บนยอดเขา และห้ามไม่ให้นางมองดูสามีเป็นอันขาด ทุกคนต่างเศร้าสลดโดยเฉพาะเจ้าหญิงไซคี แต่นางก็ทำใจกับโชคชะตา ชาวเมืองและพระบิดาพระมารดาจัดขบวนส่งเจ้าสาวไปยังหน้าผาด้วยความโศกเศร้า ก่อนจะทิ้งเจ้าหญิงไว้เพียงคนเดียวบนยอดเขา
ไซคียืนอยู่บนหน้าผาด้วยความตระหนกเพื่อรอคอยการมารับของว่าที่สวามี ทันใดนั้น เทพลมเซฟิโรส ซึ่งเป็นลมตะวันออกก็ปรากฏตัวขึ้น และได้บรรจงพัดพาไซคีไปยังยอดขุนเขา ซึ่งมีตำหนักงดงามตั้งอยู่พร้อมกับสาธารณูปโภคครบครัน สวยงามเกินกว่าจะเป็นที่อยู่ของอสุรกายดังคำทำนาย ไซคีใช้ชีวิตอยู่ในตำหนักเพียงคนเดียวจนกระทั่งฟ้ามืด คิวปิดก็มาอยู่กับไซคีตามแบบสามีภรรยา ซึ่งพอแผนการสำเร็จ คิวปิดก็โกหกเทพีวีนัสว่าไซคีพบกับความวินาศตามที่พระนางตั้งใจไว้แล้ว
ทุกคนต่างมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนกระทั่งความสงสัยในใจของไซคีเกิดทับถมจนยากจะเก็บ เพราะคิวปิดนั้นมาอยู่กับไซคีในเวลากลางคืนซึ่งมืดมิดมองอะไรไม่เห็น และรีบกลับไปเมื่อฟ้าใกล้สว่าง อีกทั้งความรู้สึกของนางบ่งบอกได้ว่าสวามีไม่ใช่อสุรกายน่าเกลียด ไซคีจึงขอดูใบหน้าที่แท้จริงของคิวปิด แต่กามเทพหนุ่มปฏิเสธ เพราะถ้าความลับแตก ไซคีก็จะเป็นอันตราย จึงขอให้นางสัญญาว่าจะไม่ดูรูปโฉมของเขา เพราะไม่เช่นนั้นเราคงจะไม่มีวันได้พบกันอีก ไซคีจึงให้สัญญา และใช้ชีวิตสามีภรรยากับคิวปิดในความมืดของเวลากลางคืนต่อมา
กระทั่งไซคีมีความต้องการอยากพบพี่สาวทั้งสองเป็นกำลัง คิวปิดอยากจะปฏิเสธแต่ก็เห็นแก่ภรรยา จึงสั่งให้เทพลมเซฟิโรสไปรับพระพี่นางของไซคีมาที่ตำหนัก พี่สาวทั้งสองฉงนกับเรื่องที่เกิดขึ้นมากเพราะคิดว่าน้องสาวตนคงต้องทรมาณกับการมีสามีอัปลักษณ์ แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด พี่สาวทั้งสองซักถามถึงรูปร่างลักษณะของสามี แต่ไซคีตอบไม่ได้เพราะไม่เคยได้เห็นหน้าคิวปิด พี่สาวทั้งสองจึงยุให้ไซคีแอบดูโฉมหน้าของสามี และให้มีดแก่นางเพราะถ้าเป็นอสุรกายจริงๆจะได้ฆ่าทิ้งเสีย
ตกดึก คิวปิดก็มาอยู่กับไซคีดังเช่นเคย เมื่อคิวปิดหลับไปแล้ว ไซคีจึงลุกขึ้นจุดตะเกียงส่องดูหน้าสามี ภาพที่ปรากฏคือเทพบุตรหนุ่มรูปงามที่มีปีกขาวสะอาดซึ่งหล่อเหลาคมคายมากกว่าชายใดที่ไซคีเคยรู้จัก นางชมโฉมคิวปิดเพลิน น้ำมันตะเกียงร้อนๆหดรดคิวปิดจนเขาสะดุ้งตื่น คิวปิดโกรธไซคีมากที่ผิดสัญญา จึงได้หนีจากไซคีไป เมื่อไซคีรู้สึกตัวอีกทีก็พบว่านางกลับมาที่วังของตน หาใช่ตำหนักแสนสุขที่ได้อยู่ร่วมกับสามีอีกต่อไป
ไซคีเสียใจมากกับเรื่องที่เกิดขึ้น นางพร่ำโทษตัวเองที่ผิดคำสัญญา นางจึงตัดสินใจละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อติดตามหาคิวปิด ซึ่งยากลำบากมากสำหรับผู้หญิงอ่อนบางแถมยังได้รับการเลี้ยงดูแบบเจ้าหญิงอย่างไซคี
แต่พี่สาวทั้งสองของไซคีกลับรู้สึกยินดี พร้อมทั้งไปที่หน้าผาเรียกเทพลมมารับ เพราะคิดว่าคิวปิดอาจจะรับพวกนางเป็นชายาแทนไซคี แต่เพราะเทพลมเซฟิโรสไม่ได้รับคำสั่งให้มา เมื่อพวกนางกระโจนออกจากหน้าผา พวกนางจึงตกเขาตาย
ไซคีซัดเซพเนจรรอนแรมตามหาคิวปิดอย่างยากลำบาก จนพบเข้ากับวิหารเทพี
ดิมิเทอร์ เทพีแห่งพืชผล ซึ่งของบูชานั้นวางระเกะระกะไม่มีระเบียบเพราะชาวไร่ต่างเหนื่อยล้าจากการทำงาน ไซคีจึงจัดระเบียบของเซ่นสรวงจนเรียบร้อย เทพีดิมิเทอร์พอใจมาก จึงบอกให้ไซคีไปที่วิหารของเทพีวีนัสเพื่อขออภัยโทษ
แต่เทพีวีนัสมีความริษยาแรง จึงหาทางกลั่นแกล้งไซคีต่างๆนานาๆ โดยให้ไซคีแยกเมล็ดข้าว ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโพด ถั่ว และธัญญาหารชนิดต่างๆ ที่ปะปนอยู่ในฉางแยกออกมาให้เสร็จก่อนค่ำเพื่อให้นกพิราบของพระนางกิน ไซคีถึงกับท้อแท้ใจเพราะนางเป็นแค่หญิงมนุษย์ธรรมดา ไม่มีทางจะทำสิ่งที่เกินความสามารถเช่นนี้ได้แน่นอน
ในขณะเดียวกัน คิวปิดที่คอยเฝ้ามองดูแลไซคีอยู่ห่างๆ ตลอดเวลาก็ส่งมดฝูงใหญ่มาช่วยงานไซคี โดยมดทั้งหมดต่างแยกธัญญาหารอย่างเรียบร้อย และรีบกลับไปก่อนค่ำ
เทพีวีนัสกริ้วมากเพราะรู้ว่าไซคีไม่ได้ทำเอง และคนที่ช่วยเหลือนางก็คือโอรสของพระนางนั่นเอง จึงสั่งให้ไซคีไปเก็บขนแกะทองคำมาให้พระนาง ซึ่งแกะขนทองฝูงนั้นโหดร้ายมาก แต่เทพประจำแม่น้ำก็ช่วยเหลือไซคี บอกเคล็ดลับต่างๆ จนไซคีทำภารกิจที่สองสำเร็จ
เมื่อผู้เป็นสะใภ้สำเร็จภารกิจประทุษร้ายมาได้ทั้งสองครั้ง ทำให้เทพีวีนัสคิดแผนการร้ายกาจที่สุดขึ้นมาได้ โดยรับสั่งให้ไซคีนำผอบไปขอเครื่องประทินโฉมจากเทพี
เพอร์ซิโฟเน มเหสีของเทพเฮดีสแห่งยมโลกมาถวายพระนาง ซึ่งหมายถึงการส่งไซคีไปตายนั่นเอง
ไซคีท้อถอยหมดกำลังใจอย่างมากเมื่อรู้ความหมายของเทพีวีนัส นางจึงคิดว่า ดีเหมือนกัน ในเมื่อสามีไม่เหลียวมองตนอีกต่อไปแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ดังนั้น เจ้าหญิงไซคีจึงขึ้นไปยังยอดผาเตรียมตัวกระโดดฆ่าตัวตายไปสู่ยมโลกในทางลัด
แต่ยังไม่ทันที่ไซคีจะทำตามความตั้งใจ คิวปิดที่เฝ้ามองนางอยู่จึงเอ่ยปลอบประโลมนางอย่างอ่อนโยนด้วยความรักและสงสาร ทว่าทิฐิก็ยังทำให้กามเทพไม่ยอมปรากฏกายให้ไซคีเห็น ไซคีได้ยินเสียงปลอบใจปริศนานั้นก็ทำให้มีกำลังใจสู้ต่อ คิวปิดบอกวิธีต่างๆ ในการไปนรกอย่างปลอดภัยให้กับไซคี พร้อมกับย้ำเตือนนางไม่ให้นางเปิดผอบเครื่องประทินโฉมนั้นเป็นอันขาด
ไซคีทำตามที่คิวปิดบอกทุกประการยกเว้นประการสุดท้าย ด้วยความสงสัยอันเป็นพื้นฐานจิตใจมนุษย์ทำให้ไซคีเปิดผอบขึ้นดู ทันใดนั้นควันประหลาดก็พวยพุ่งใส่ไซคี ทำให้นางสลบแน่นิ่งลงไปทันที เพราะแท้จริงแล้วสิ่งในผอบคือ มนตร์แห่งการหลับใหล นั่นเอง
คิวปิดที่รอคอยไซคีอยู่ปากถ้ำยมโลกเห็นไซคีตกอยู่ในอันตรายเช่นนั้นก็รีบเข้ามาหาชายา พร้อมกับรวบรวมมนตร์เก็บในผอบและปลุกไซคีให้ฟื้นขึ้นมา
ไซคีดีใจมากเมื่อได้สวามีอีกครั้งหนึ่ง แต่คิวปิดก็ติเตียนนางเกี่ยวกับความอยากรู้อยากเห็นที่เป็นโทษแก่นางมาหลายครั้งแล้ว ไซคีกล่าวขอโทษ คิวปิดจึงบอกว่านางควรไปทำภารกิจที่ได้รับมาให้สำเร็จเสียก่อน
จากนั้นคิวปิดก็ขึ้นไปบนเขาโอลิมปัส ขอร้องแก่ทวยเทพทุกองค์ให้ช่วยเหลือ โดยเทพซีอุสขอให้เทพีวีนัสเลิกจงเกลียดไซคี และได้ประทานน้ำอมฤตแก่ไซคี เพื่อให้นางกลายสภาพเป็นเทพีอีกองค์หนึ่ง
ท้ายสุด ไซคีและคิวปิดก็มีธิดาด้วยกันหนึ่งองค์คือ เดลิซิโอ (Delicio - รากศัพท์ของคำว่า Delicious) ทั้งสองได้ครองค่อยู่ด้วยกันตราบนานเท่านานและไม่พลัดพรากจากกันอีกต่อไป

เอรีส (Ares)




อาเรส หรือ เอรีส (Ares) มาร์ส (Mars) เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม และอาวุธ
อาเรส หรือ เอรีส (Ares) หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า มาร์ส (Mars) เป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม และ อาวุธชุดเกราะ นอกจากนี้ยัง เป็นหนึ่งในสิบสองเทพแห่งโอลิมปัสด้วย โดยเป็นบุตรองค์หนึ่งของเทพซุส กับเจ้าแม่ ฮีรา และ เป็นที่เกลียดชัง ของเทพ และมนุษย์ทั้งปวงเว้นแต่ชาวโรมัน ผู้มีนิสัยชอบการสงคราม
อาเรส เป็นเทพแห่งการสงครามเช่นเดียวกับ อาเธน่า แต่ทว่าอาเธน่า จะได้รับการยกย่องและบูชามากกว่า เนื่องจาก อาเธน่าเป็นเทพีที่ใช้สติปัญญาวางแผนในการสู้รบมากกว่า ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะเทพีแห่งสติปัญญาด้วย ผิดกับ อาเรส ซึ่งมักจะใช้ความดุดันและโหดร้ายในการสงครามมากกว่า ซึ่งโฮเมอร์ กวีเอกคนสำคัญของกรีกโบราณ ยังเคยเขียนถึงพระองค์ว่า เป็นเทพที่โหดร้ายและหยาบช้า
ชาวโรมันเทิดทูนสดุดีเทพองค์นี้ยิ่งนัก ถึงกับอุปโลกน์ให้เป็นเทพบิดาของ โรมิวลัส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรม และพรรณาสรรเสริญเกียรติคุณนานัปการ ตรงกันข้ามกับชาวกรีก ซึ่งนอกจากจะไม่นิยมเลื่อมใสเทพองค์นี้แล้ว ยังถือว่า เป็นเทพที่มีสันดานป่าเถื่อนดุร้าย ปราศจากความเมตตากรุณาเสียอีก
อาเรสเป็นโอรสขององค์เทพซุสกับฮีร่าเทวี และทรงเป็นโอรสที่เทพบิดาซุส ตรัสใส่หน้าเลยว่า "เจ้าเป็นที่น่าชังที่ สุดในบรรดาลูกของข้า ทั้งโหดร้าย ดื้อด้านเหมือนแม่เจ้าไม่ผิด!" ซึ่งวาทะประโยคนี้นับว่าวิจารณ์อุปนิสัยใจคอของ อาเรสได้ตรงเป็นที่สุด นอกจากโหดร้ายและดื้อดึง อาเรสยังบุ่มบ่าม โกรธง่าย และนิยมความรุนแรงมาก นับว่า เป็นอุปนิสัยที่ แตกต่างกับ เอเธน่า มากซึ่งเป็นเทวีแห่งสงครามเหมือนกัน เอเธน่านั้นสุขุม เฉลียวฉลาด และ กล้าหาญ จึงได้รับการ ยกย่องทั่วทุกหนแห่ง เป็นเหตุให้อาเรสเกิดจิตริษยาเอามาก
เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับอาเรสองค์นี้ คือในฐานะที่เป็นเทพแห่งสงคราม ตามปกติหากรบที่ไหน ต้องมีชัยที่นั่น แต่ผิดถนัดสำหรับเทพองค์นี้ หากว่าอาเรส รบที่ไหนปราชัยที่นั่นมากกว่า จนน่าประหลาดใจ นอกจากจะพ่ายแพ้ แก่เทวีเอเธน่าแล้ว ยังแพ้มนุษย์อีกด้วย อาทิเช่น วีรบุรุษเฮอร์คิวลิส เคยสังหารโอรส ของอาเรสมาแล้ว ครั้นผู้เป็นพ่อเข้าช่วยลูก ก็ถูกต่อยตีจนต้องหลบหนีขึ้นไปบนโอลิมปัสแทบไม่ทัน เมื่อนำเรื่อง ทูลฟ้องซุสเทพบดี ซุสก็ตัดสินไกล่เกลี่ยให้เลิกรากันไป เนื่องจากแท้ที่จริง เฮอร์คิวลิส ก็เป็นโอรสของซุส เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีมารดาเป็นมนุษย์สามัญ
เทพอาเรสมักเสด็จไปไหน ๆ โดยรถศึกเทียมม้าฝีเท้าจัดมากมาย แสงเกราะ และแสงศาตราวุธส่องแสงเจิดจ้า บาดตาผู้พบเห็น มีบริวารที่ติดสอยห้อยตามอยู่ 2 คนคือ เดมอส (Deimos) ซึ่งแปลว่าความกลัว กับ โฟบอส (Phobos) แปลว่าความน่าสยองขวัญ บริวารนี้บางตำนานกล่าวว่าเป็นโอรสของเทพอาเรส ในทาง ดาราศาสตร์ เมื่อตั้งชื่อ ดาวอังคารว่า มาร์ส ตามชื่อเทพแห่งสงครามแล้ว ก็เลยตั้งชื่อดวงจันทร์บริวารทั้งสองของดาวอังคารว่า เดมอส กับ โฟบอสตามตำนานไปด้วยเลย และชื่อของทั้งคู่ก็เป็นรากศัพท์ของคำว่า ความตื่นตระหนก (Panic) และ ความกลัว (Phobia) ด้วย



ในด้านความรักของอาเรสนั้นเร่รักไปเรื่อย เช่นเดียวกับเทพบุตรอื่นๆ ในโอลิมปัส ไม่ได้ยกย่องใครเป็นชายา แต่มีเรื่อง รักสำคัญของอาเรสอยู่ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่การลักลอบเป็นชู้กับเทวีแห่งความงาม และความรักนาม อโฟรไดท์
เมื่ออาเรส เป็นที่เกลียดชังของเทพและมนุษย์ (ชาวกรีก) เช่นนั้น พฤติการณ์ตอนเป็นชู้กับเทวี
อโฟรไดท์
จึงเป็นที่ครหารุนแรง และมวลเทพก็คอยจ้องจับผิด ก็เพราะความมืดของราตรีกาลเป็นใจ ตราบใดเธอ หลบไปได้ ก่อนดวงอาทิตย์ของอพอลโลไขแสง หากยังจับไม่ได้คาหนังคาเขา ตราบนั้นพฤติการณ์เช่นนี้ก็ยังคง เป็นความลับ
อาเรส กลัวอยู่ก็แต่แสงสว่าง ซึ่งเปรียบประดุจนักสืบของเทพอพอลโลเท่านั้น ถ้านักสืบนั้นแฉ พฤติการณ์ออกไป ให้แก่เทพอพอลโลแล้ว เทพอพอลโลก็คงจะนำความไปบอก แก่เทพฮีฟีสทัส ถึงกรณี ที่ อาเรส ลักลอบกับคบกับ เทวีอโฟรไดท์ อาเรสจึงวางยามไว้คนหนึ่ง ให้คอยปลุกเมื่อใกล้รุ่ง ผู้ทำหน้าที่นี้คือ หนุ่มน้อยชื่อว่า อเล็กไทรออน (Alectryon)


ในคราวที่ความจะแตก อเล็กไทรออนหลับยามเพลินไปจนรุ่งเช้า เป็นเหตุให้อพอลโล เห็นอาเรสกับอโฟรไดท์ นอนหลับอยู่ด้วยกัน อพอลโลจึงนำความไปบอกแก่เทพ
ฮีฟีสทัส ฮีฟีสทัสสานร่างแหเหล็กเตรียมไว้ก่อนแล้ว พอได้ความดังนั้น ก็หอบ ร่างแหไปทอดครอบอาเรสกับอโฟรไดท์ ไว้ให้เทพทั้งปวงมาดูและหัวเราะเยาะอย่าง ครื้นเครง แล้วจึงปล่อยไป ฝ่ายอาเรสได้รับ ความอัปยศอดสูท่ามกลางธารกำนัลยิ่งนัก จึงสาปอเล็กไทรออน ให้กลายเป็นไก่ ทำหน้า ที่คอยขันยามในเวลาใกล้รุ่งทุกคืน เป็นการลงโทษในการที่หลับยาม ด้วยเหตุนี้ไก่ผู้ทุกตัว ที่เกิดขึ้นในโลก จึงสืบสกุลมาจากไก่อเล็กไทรออนตัวแรกนั้นทั้งสิ้น และผลของการอภิรมย์ของคู่นี้ ทำให้ เทวีอโฟร์ไดท์ ประสูติธิดาออกมาองค์หนึ่งนามว่า อาร์โมเนีย ซึ่งต่อมาได้ เป็นราชินีแห่งนครธีบส์

เฮฟเฟสตุส (Hephaestus)







เฮฟเฟสตุส (Hephaestus)






หรือ วัลแคน เทพแห่งไฟ โลหะ และการช่าง เป็นบุตรของ Zeus กับ Hera (บางตำราว่าเป็นบุตรของ Hera ผู้เดียว) พระองค์เป็นเทพที่พิการและอัปลักษณ์ มีประวัติกำเนิด เล่าแตกต่างกันเป็น 2 นัย
นัยหนึ่งว่าเป็น เทพบุตรของ เทวีฮีรากับเทพปรินายกซุสโดยตรง แต่อีกนัยหนึ่งว่าเฮฟเฟสตุสถือกำเนิดแต่เทวีแม่ฮีรา ทำนองเทวีเอเธน่า เกิดกับซุสฉะนั้น คือผุดขึ้นจากเศียรของเทวีโดยลำพังตนเอง ทั้งนี้เนื่องด้วย เจตจำนงของเทวีฮีรา ที่ต้องการจะแก้ลำซุส ในการกำเนิดของเทวีเอเธน่า ให้เทพทั้งปวง เห็นว่าเมื่อซุสทำให้เทวีเอเธน่าเกิดเองได้ เทวีก็สามารถทำให้ เฮฟเฟสตุสเกิดเองได้เช่นกัน แต่ถึงกำเนิดของเทพเฮฟเฟสตุสจะเป็นประการใด ก็ต้องนับว่า เฮฟเฟสตุส เป็นเทพบุตรของ ซุส ด้วยเช่นกัน หากมีข้อควรกล่าวก็ คือว่า เฮฟเฟสตุส ติดแม่มากกว่าติดพ่อ และเข้ากับแม่ทุกคราว ที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ในคราวหนึ่งซุสประสงค์จะลงโทษเทวีฮีรา ให้เข็ดหลาบ เอาโซ่ทองล่าม เทวีแขวนไว้กับ กิ่งฟ้าห้อยโตงเตงอยู่ ดังนั้นเฮฟเฟสตุสก็เข้าช่วยเทวี พยายามแก้ไขโซ่ จะให้เทวีเป็นอิสระ ซุส บันดาลโทสะ จึงจับ เฮฟเฟสตุส ขว้างลงมาจากสวรรคโลก
เนื่องด้วยเหตุดังกล่าว พระองค์จึงถูกพระบิดา และมารดาทอดทิ้ง Hephaestus ใช้เวลาช่วง 10 ปีแรกอยู่ในทะเล และได้สร้างโรงหล่อไว้ใต้ภูเขา Aetna มี Cyclops เป็นคนงาน โดยสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้น มีดังนี้
อาวุธของ Achilles และ Aeneas คทาของ Agamemnon สร้อยคอของ Harmonia ซึ่งผู้สวมใส่จะประสบเคราะห์ร้าย โล่ของ Heracles



เฮฟเฟสตุส แสดงอาวุธของ เอเนียส (Aeneas) แก่ เทพีอโฟรไดท์



เฮฟเฟสตุส ตกจากสวรรค์เป็นเวลาถึง 9 วันจึงลงมาถึงมนุษย์โลก ณ เกาะเลมนอสในทะเลเอจีน และเนื่องใน การตกครั้งนี้ เฮฟเฟสตุสจึงมีบาทแปเป๋ไปข้างหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา แต่ทั้งที่ต้องพิการเช่นนั้น ด้วยหมายจะช่วยมารดา เทวีฮีรา ผู้เป็นมารดา ก็หาแยแสเหลียวแลไม่ เฮฟเฟสตุสเทพบุตร บังเกิดความโทมนัสซ้ำเติมอย่างแสนสาหัสใน ความเฉยเมยของเทวี ถึงแก่ตั้งปณิธานว่า จะไม่กลับขึ้นไปบนเขาโอลิมปัสอีก เฮฟเฟสตุสจึงสร้างวังประทับ อยู่ในเกาะเลมนอส และตั้งโรงหล่อ เพลิดเพลิน ในการช่าง ฝีมือประกอบ โลหะนานาชนิด โดยมีพวก ยักษ์ไซคลอปส์ เป็นลูกมือ และเพื่อจะแก้ลำ ความเมินเฉยของมารดา จึงสร้างบัลลังก์ทองคำ เปล่งสะพรั่งพร้อม ด้วยลวดลาย สลักเสลาอย่างหาที่ เปรียบมิได้ ขึ้นตัวหนึ่ง เป็นบัลลังก์กล ประกอบด้วยลานกลไกซ่อนอยู่ข้างใน ส่งขึ้นไปถวาย เทวีฮีรา เทวียินดีในรูปลักษณะ อันแสนงามของบัลลังก์กล สำคัญว่าเป็นของบุตรถวายโดยซื่อ พอขึ้นประทับ เครื่องกลไก ที่ซ่อนอยู่ ก็ดีดกระหวัด รัดองค์เทวีตรึงติดกับบัลลังก์อย่างมั่นคง จนไม่สามารถแม้แต่ จะขยับเขยื้อนองค์ แม้เทพทั้งปวงจะรวมกำลังกัน เข้าแก้ไขก็จนปัญญา ไม่มีทางปลดเปลื้องพันธนาการ ให้หลุดออกไปได้ เมื่อเหลือกำลังทวยเทพ ดังนั้น เฮอร์มีส เทพผู้มีลิ้นทูต จึงอาสามาเกลี้ยกล่อม วอนง้อขอให้ เฮฟเฟสตุส ขึ้นไปช่วยแก้ แต่ลิ้นทูตของเฮอร์มีสกลับไม่สำเร็จ ในกรณีนี้ แม้จะหว่านล้อมสักเพียงใด ก็ไม่อาจชักจูงเฮฟเฟสตุส ให้ขึ้นไปบนเขาโอลิมปัสได้
ทวยเทพประชุมปรึกษากันอีกวาระหนึ่ง มองไม่เห็นใครนอกจากเทพ ไดโอนิซัส จะช่วยได้ จึงเห็นชอบ พร้อมกันส่ง ไดโอนิซัส ลงมาเกลี้ยกล่อมเทพเฮฟเฟสตุสด้วย อุบาย คือใช้วิธีมอมเฮฟเฟสตุส ด้วยน้ำองุ่น จนเฮฟเฟสตุส เคลิบเคลิ้มมึนเมา แล้วไดโอนิซัส ก็พาเฮฟเฟสตุสขึ้นไปแก้เครื่องกลพันธนาการให้เทวีฮีราเป็น อิสระจนได้ ใช่แต่เท่านั้น ไดโอนิซัส ยังช่วยไกล่เกลี่ยให้เทพบิดามาดรและเทพบุตรออมชอมเข้ากันได้ดังปกติอีกด้วย
แต่ทั้งที่ได้รับความยกย่องโปรดปรานเทียมเท่าเทพองค์อื่น ๆ ในคณะเทพโอลิมเปียนแล้วเช่นนั้น เฮฟเฟสตุส ก็ไม่ยินดี ที่จะอยู่บนเขาโอลิมปัสเป็นประจำ จะขึ้นไปก็เฉพาะคราวประชุมเทพ และในวาระอื่น ๆ เท่านั้น ในยามปกติ จะขลุกอยู่ในโรงหล่อ และหมกมุ่น ง่วนกับงานช่างเป็นนิตย์ จะเปรียบก็เป็น พระเวสสุกรรมของกรีก เพราะการสร้าง วังที่ประทับ ของเทพแต่ละองค์ บนเขาโอลิมปัสนั้นเป็นพนักงานของเฮฟเฟสตุสทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้ออกแบบ ประกอบเครื่องตกแต่งตำหนักต่าง ๆ ด้วยโลหะ ประดับมณีแวววาวจับตา ยังมีการประกอบอสนีบาตเป็นอาวุธถวายแก่ ซุส และ ศรรักให้ อิรอส



อพอลโล่(Apollo)




เทพอพอลโล Apollo ...อพลโล (Apollo)


เทพคู่แฝดผู้น้องของเทวีอาร์เตมิส คือเทพครองดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังชาวกรีกและโรมันถือว่า เป็นดวงอาทิตย์ทีเดียว เหมือนอย่างที่ถืออาร์เตมิสเป็นดวงจันทร์ฉันนั้น ในชั้นดั้งเดิมสุริยเทพของกรีกคือ ฮีลิออส(Helios) ซึ่งเป็นบุตรของโอเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง แลโตนา มารดาของอพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของเจ้า แม่ฮีรา เพราะเหตุเป็นที่ปฏิพัทธ์เสน่หาของ ซูส ต้องอุ้มครรภ์ หนีงู ไพธอน (Python) ของเจ้าแม่ ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้ประสูติบุตรในครรภ์ได้จน ถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสารบันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงให้ประสูติอพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะ นั้น ในทันทีที่ประสูติจากครรภ์มารดา อพอลโลก็จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียก ขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน (Felian) ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า "โอภาส" หรือ "ส่องแสง" เป็นอาทิ ชื่อหลังนี้มัก ใช้บวกกับชื่อประจำว่า ฟีบัส อพอลโล เนือง ๆ เมื่อให้ประสูติบุตรแล้ว นางแลโตนาก็ยังไม่พ้นการรังควานของเจ้าแม่ฮีรา ต้องดั้นด้นเซซังต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ ในเอเซียไมเนอร์ปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้า คาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับ ไล่ตะเพิดและด่าทอนางด้วยคำ หยาบช้า ทำให้ซูสเทพบดีกริ้วจัดนัก ถึงแก่ สาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด ตำนานเรื่องนี้เห็นจะแสดงว่าใน ละแวกนั้นมีกบ ชุม และกบปัจจุบันอาจสืบเชื้อสายจากชาว บ้านที่ถูกสาปเหล่านั้นก็เป็นได้ อพอลโลเป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือของเธอ นอกจากนี้เธอยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร เธอยังเป็นเทพผู้ถ่ายวิชาโรคศิลป์ ให้แก่มนุษย์เป็นปฐม เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืดและเป็นเทพแห่ง สัจธรรมผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในประเทศแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขาพาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่เธอ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว เทพอพอลโลได้สำแดงวีรกรรมสังหารผลาญชีวิตคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างู ยักษ์ไพธอนจนมีชื่อ เสียงมหาศาลแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส(Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทนคิดล้มซูสเทพบดีเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น แต่มีครั้งหนึ่งที่อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงไท้เทพซูสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดินคนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส หรือ เฮลาคลิสนั่นเอง เหตุเกิดเพราะเฮอร์คิวลิสไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟีแล้ว ได้รับคำทำนายไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะ พิธีใน วิหารแล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโลรีบรุดตามไปท้าเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่ นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ชะรอยซูสเห็น ท่าว่าขืนปล่อยไว้นานอพอลโลอาจจะเสียเปรียบพ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงเสด็จลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปแก่อพอลโล แล้วให้ เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่าผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน พระเจ้าไมดาส (Midas องค์ที่จับอะไรก็กลายเป็นทอง) เกิดตัดสินเข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีก จึงสาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที ตามเรื่องต่าง ๆ ที่เธอมีบทบาทอยู่ อพอลโลดูจะเป็นเทพใจสูงกว่าองค์อื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็นความโหดเ!้ยมดุร้ายของเธอดังเราจะเห็น จากเรื่องต่อไปนี้
การลงโทษนางไนโอบี เทพอพอลโลกับเทวีอาร์เตมิสเป็นที่สวาสดิ์ภาคภูมิใจของมารดายิ่งนัก นางถึงแก่โอ้อวดคุยฟุ้งเฟื่องไปไกลว่าจะหาบุตรใครเสมอบุตรของนางเห็นจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบกันในเชิงสิริรูป สติปัญญา หรือพลังอำนาจ ก็ต้องแพ้บุตรของนางหลุดลุ่ย ความนี้เลื่องลือไปถึงนาง ไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นธิดาของท้าว แทนทะลัส (Tantalus) และมเหสีเจ้ากรุง ธีบส์ (Thebes) นางไนโอบีกลับหัวเราะเยาะและค่อนว่า นางแลโตยามีลูกจะอวดกับเขาแต่เพียง 2 เท่านี้หรือ ส่วนนางเองสิมีถึง 14 เป็นชาย 7 ล้วนแต่มีรูปกำยำงามสง่า และเป็นหญิงล้วนแต่ทรงโฉมวิลาสวิไลถึง 7 นางไนโอบีลั่นวาจาก้าวร้าวสบประมาทนางแลโตนาอีกเป็นอันมาก ซ้ำยังกำเริบเสิบสานถึงแก่ห้ามชาวเมือง ของนางกระทำบูชา
เทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิส แถมบังอาจสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทวีคู่นี้จากแท่นที่บูชา ในอาณาจักรของนางอีกด้วย นางแลโตนาโกรธแค้นหนักหนาในการที่ถูกหยามหยาบถึงเพียงนี้ จึงเรียกบุตรและ ธิดาเคียงข้าง และสั่งให้ออกตามฆ่าบุตรและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้น เทพบุตรเทพธิดาคู่แฝดอยู่ในอารมณ์ขึ้งเคียดเต็มที่ จึงขมีขมันออกไปตามคำสั่งทันที อพอลโลพบมานพทั้ง 7 ออกล่า! จึงประหารเสียด้วยลูกธนูตายหมดทั้ง 7 คน เมื่อข่าวการตายของบุตรรู้ไปถึงนางไนโอบี นางก็โศกเศร้า โทมนัสนัก ฝ่ายเจ้ากรุงธีบส์สวามีก็ทำลายตัวเองสิ้นไปด้วยอีกคนหนึ่ง ยังเหลือธิดาทั้ง 7 ยังไม่ทันที่มารดาจะวายโศก ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสจองประหารอีก มิใยสาวผู้ถึงฆาตทั้ง 7 จะพยายามหนีให้พ้นลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานอย่างไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ แม้นาง ไนโอบีจะพยายามปกป้องลูก และอ้อนวอนขอความอารักขาคุ้มครองจากทวยเทพบน
เขาโอลิมปัสสักเท่าใดก็ไม่เป็นผล ธิดาของนางต้องศรล้มกลิ้งตายกันระเนระนาด ที่สุดจนนางที่ซุกอยู่ระหว่างอุระของมารดา เทวีอาร์เตมิสผู้อาฆาตก็ไม่ละเว้น ลูกธนูของเจ้าแม่แล่นเข้าเป้าเสียบนางนั้น ให้วายชีวิตไปแทบอุระของมารดาจนได้ นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและบุตรธิดาที่มาดหมายเหลือแต่นางเดียวดายถึงไม่ตายก็เหมือนตาย ความเศร้ารันทดหนุนเนื่องประดังขึ้นมาแน่นอุระ นางก็แข็งชาไปทั้ง ร่างกาย มิอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ อนิจจา! ร่างของนางกลายเป็นหินตื้อตันไปหมด คงอยู่แต่หยาดน้ำตารินไม่สิ้นสุด แต่วันนั้นมาจนวันนี้ น้ำตานางจะหยุดไหลก็หา ไม่ ส่วนรูปหินของนางไนโอบีก็ยังปรากฏอยู่บนเขา ไซปิลัส (Sipylus) จนตราบเท่าทุกวันนี้ นักเทพปกรณัมวิทยาเขาว่ากันว่า เรื่องนี้ก็คือ ตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์เมื่อสิ้นฤดูหนาว ซึ่งนางไนโอบีนั้นหมายถึงฤดูหนาว บุตรทั้ง 7 คือระยะ กาลแห่งความหนาว และลูกธนูของอพอลโลก็คือแสงอาทิตย์ อพอลโลถูกเนรเทศ เมื่อยังเยาว์อพอลโลเที่ยวไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ มีดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนและแคว้นเธสสะลีเป็นต้น เธอเที่ยวผูก สมัครรักใคร่หญิงทั่วไปตามวิสัยหนุ่มรุ่น ในแคว้นเธสสะลีมีสาวเจ้าคนหนึ่งงามนัก ชื่อว่า
โครอนนิส (Coronis) เป็นธิดาเจ้าแห่งแคว้นนั้น อพอลโลผูกสมัครรักใคร่ได้ เสียกับนางจนเกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่นางกลับปรากฏว่าเป็นหญิงหลายใจ ในระหว่างที่นางมีครรภ์ อพอลโลให้นกดุเหว่าขนขาวปลอดตัวหนึ่งเฝ้านางไว้ เมื่อนางคบชู้ นกก็ไปบอกข่าวแก่เทพผู้เป็นนาย อพอลโลบันดาลโทสะ พลอยสาปนกซึ่ง บอกข่าวอัปมงคลให้กลับมีขนสีดำไป ดังนั้นนกดุเหว่าจึงมีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา ส่วนนางโครอนนิสถูกฆ่า ว่ากันว่าด้วยน้ำมือของเทพอพอลโลเองบ้าง ด้วยคมศรของเจ้าแม่ อาร์เตมิสบ้าง แต่บุตรในครรภ์ซึ่งจวนจะครบกำหนดคลอดนั้นรอดตาย ด้วยอพอลโล(บ้างก็ว่าเฮอร์มีส) เอาออกจากครรภ์ ตอนเผาศพนางโครอนนิส แล้วมอบให้แก่ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์ เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้เลี้ยงดู ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ไครอนนี้เป็นอาจารย์ผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มีวิชาดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น เป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณว่า เป็นผู้ สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้พืชสมุนไพรทำยา และเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆ ในเทพปกรณัมมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส และคนอื่น ๆ อีก ในตอนปลายอายุถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษ โดยความสำคัญผิดของเฮอร์คิวลีสในระหว่างที่ตามล้างเซนทอร์พวกหนึ่ง แม้เฮอร์คิวลิสจะช่วยแก้ไขให้รอดตาย และ ไครอนแม้จะเป็นหมออยู่กับตัว แต่ก็ไม่สามารถถอนพิษยาได้ พิษยาบันดาลให้ไครอนเจ็บปวดรวดร้าวนักหนา ซูสเทพบดีจึงโปรดให้กลายเป็นดาวอยู่ในกลุ่มดาวชื่อ แซชจิเตริอัส (Sagitarius) บุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับฝากไว้นั้นได้ขนานชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาดเฉลียวมีความเข้าใจแตกฉานและเป็น ที่รักของอาจารย์อย่างยิ่งวิชาที่เขาใส่ใจศึกษาที่สุดได้แก่ โรคศิลป์ เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นหมอบำบัดโรคผู้มีความสามารถยิ่ง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสในการบำบัดโรคนั้นยิ่งกว่าของอาจารย์มาก ด้วยที่สามารถบำบัดโรคและความป่วย ไข้ได้ทุกชีวิต ซึ่งไครอนเองทำไม่ได้ ในไม่ช้าชื่อ เสียงของเอสคิวเลปิอัสก็เลื่องลือไปไกล ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ได้ป่วย หนักหนาสาหัส หรือเล็กน้อย ถ้าได้รับการบำบัดจากเขาแล้วก็ทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าหายวันหายคืนเลย ทีเดียว ผู้คนพากันไปขอรับการบำบัดโรค ณ สำนักของเขา ทั้งจากใกล้และไกลทุกทิศทาง นับว่าการบำเพ็ญประโยชน์ของ เอสคิวเลปิอัสแผ่ไพศาลยิ่ง ทั้งโดยเนื้อ นาบุญและโดยระยะทาง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสเป็นที่เลื่องลือไปจนว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเขาสามารถแก้คนตายให้ฟื้นได้ อัน เป็นเหตุ ให้เทพปริณายกซูส กับเทพฮาเดส เจ้าแห่งแดนคนตายเดือดร้อน ทั้งริษยาและหวั่นเกรงในอำนาจ บารมีของ เอสคิวเลปิอัส หากปล่อยไว้นานไปเบื้องหน้าจะทำให้มนุษย์กำเริบอีก เห็นว่าจะละไว้มิได้ ซูสจึงประหาร เอสคิวเลปิอัส ด้วยอสนีบาต เทพอพอลโลบันดาลโทสะกล้าในการตายของบุตร แต่ไม่รู้จะโกรธเอากับเทพบิดาอย่างไร จึงหันไปไล่ เบี้ยเอากับช่างประกอบอสนีบาตถวายซูส คือ เทพฮีฟีสทัส กับยักษ์ไซคลอปส์ เธอน้าวคันธนูเงินมุ่งจะยิงธนู สังหารยักษ์ไซคลอปส์เสียให้สมแค้น แต่ซูสไม่ยอมให้อพอลโลทำเช่นนั้นได้ และเพื่อจะลงโทษบุตรในความ อุกอาจดังนี้ ไท้เธอจึงเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ในมนุษย์โลก และให้เป็นข้าของมนุษย์เป็นเวลา 1 ปีเสียก่อน จึงจะพ้นโทษ เรื่องของเฟอิทอน นอกจากเอสคิวเลปิอัสแล้ว อพอลโลยังมีบุตรอีกคนหนึ่ง แต่เกิดกับนางอัปสร ไคลมินี (Clymene) ชื่อเฟอิทอน (Phaeton) วันหนึ่งเฟอิทอนถูก เพื่อนเรียนหนังสือด้วยกันหัวเราะเยาะ ในการที่อ้างตนเป็นบุตรสุริยเทพ เฟอิทอนทั้งเคืองทั้งอับอายกลับมารบเร้าให้มารดาพาไปหาบิดา เพื่อให้ได้หลักฐานพิสูจน์ว่าตนเป็น บุตรเทพอพอลโลจริง นางไคลมินีจึงบอกทางให้บุตรเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนกว่าจะถึงวังที่ประทับของอพอลโล ณ ที่นั้นจะได้พบกับบิดาสมประสงค์ เฟอิทอนรีบดั้นเดินทางโดยไม่หยุดพัก จนล่วงเข้าเขตวังของบิดา แม้ภูมิทำเลบริเวณวังจะงดงามตระการเพียงใด และตำหนักที่ประทับของอพอลโลก็เรืองวิจิตรน่า พรึงเพริดสักปานใด เฟอิทอนก็หาแยแสใส่ใจไม่ ฝ่ายอพอลโลเห็นกุมารเข้าไปใกล้ก็จำได้ว่าเป็นบุตร และเมื่อเฟอิทอนขึ้นถึงบัลลังก์ที่เธอประทับอยู่เธอก็ปฏิสันถารกับ เฟอิทอนอย่างบิดากับบุตร สั่งถามถึงธุระในการที่มาเฝ้า เฟอิทอนจึงทูลแถลงถึงเรื่องราวและความที่พึงประสงค์ พอจบเทพอพอลโลก็ออกอุทานวาจาว่า อนุญาตให้เฟอิทอนได้ ข้อพิสูจน์ตามแต่จะพึงประสงค์ พร้อมทั้งสาบานยืนยันมั่นคง โดยอ้างแม่น้ำสติกส์เป็นทิพยพยานอีกด้วย การสาบานโดยการอ้างชื่อแม่น้ำสติกส์นี้ เป็นการสาบานอันเคร่งครัดที่สุด ซึ่งลงว่าเทพองค์ใดลั่นสาบานแล้ว เทพองค์นั้นจะล่วงละเมิดไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเทพผู้ ล่วงละเมิดไม่ปฏิบัติตามสาบาน จะต้องเสวยน้ำในแม่น้ำนี้ซึ่งจะทำให้ปัญญาเสื่อมเศร้าหมองเป็นเวลา 1 ปี กับจะต้องถูกขับออกจากเขาโอลิมปัสและงดเสวยน้ำอมฤตอีก 9 ปี เฟอิทอนฟังคำสาบานดังนั้น จึงขออนุญาตขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาในวันนั้น เพื่อว่าโลกทั้งมวลจะได้ตระหนักชัดว่า เธอเป็นบุตรสุริยเทพสมจริงตามที่กล่าวอ้าง ก็ แหละรถพระอาทิตย์นั้ไม่ใช่ของสำหรับใครจะขับได้ ด้วยว่าผู้ที่สามารถควบคุมม้าเทียมทั้ง 4 แสนจะพยศที่ลากรถนั้นจะมีก็แต่เทพอพอลโลองค์เดียว เมื่อเฟอิทอนขออนุญาต ขับรถแทนอพอลโลก็ถึงแก่สะดุ้งประหวั่นเกรงจะเกิดเหตุยุ่งยากและเดือดร้อนไปทั่วโลกพิภพและจักรวาล จึงบ่ายเบี่ยงบอกเฟอิทอนให้ขอพรอย่างอื่น ฝ่ายเฟอิทอนมีจิต กำเริบดื้อดึงขึ้นมาเสียแล้ว คงยืนกรานที่จะขอขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาให้จงได้ ในที่สุดสุริยเทพซึ่งลั่นสาบานอันไม่พึงล่วงละเมิดออกไปเสียแล้วสุดที่จะบ่ายเบี่ยงต่อไปอีกได้ ก็จำต้องยอมอนุญาตให้เฟอิทอนขับรถพระอาทิตย์แทนได้ดังประสงค์ กำหนดเวลาออกรถดลมาถึงพร้อมแล้ว ม้าเทียมรถก็เตรียมเผ่นโผนโจนทะยานออกอยู่แล้ว นางประจำยามเข้าเคียงข้างรถอยู่พร้อมสรรพฝ่ายอุษาเทวีก็คอย อาณัติสัญญาณสั่งจากสุริยเทพ เตรียมไขทวารเบิกม่านฟ้าอยู่ทีเดียว ฝ่ายเทพอพอลโลจัดแจงชโลมเฟอิทอนด้วยของเย็นกันถูกแสงอาทิตย์แผดเผา พลางสั่งเฟอิทอนให้ขับรถรักษาเส้นทางโคจรเดิมไว้ให้ดี อย่าให้รถออกนอกทางเป็น อันขาด เธอสั่งย้ำซ้ำซากให้บุตรกวดขันระมัดระวังม้าเทียมโดยเคร่งครัดอย่างที่สุด และให้ใช้แส้แต่โดยออมชอมเท่านั้นด้วยว่ามันเป็นม้าที่พยศมาก หนุ่มน้อยฟังบิดาสั่งเสียอย่างระอิดระอา แล้วก็โดดขึ้นนั่งรถทองรวบสายบังเ!ยน ให้สัญญาณอุษาเทวีเปิดทวารและขับรถออกจากวังสุริยเทพด้วยความกระหยิ่ม ลำพองใจ ในชั่วโมงแรก ๆ เฟอิทอนสังวรในคำสั่งเสียของบิดา แต่แล้วความกำเริบเสิบสานเข้าครอบงำ ทำให้ลืมคำสั่งของบิดาเสีย เฟอิทอนขับรถเร็วขึ้นทุกทีจนรถออกนอก ทางโคจรไป ดวงจันทร์และดาราน้อยใหญ่พากันตื่นตระหนกที่ได้เห็นรถสุริยาทิตย์แล่นเตลิดไปกลางหาว แต่ก็ไม่มีปัญญาจะทำประการใดได้ และเฟอิทอนก็ขับรถใกล้โลก พิภพเข้ามาทุกที จนเป็นเหตุให้พืชพันธ์ทั้งปวงเ!่ยวแห้งตายหมด น้ำในแม่น้ำลำธารก็เหือดแห้ง แผ่นดินไหม้เกรียมจนเกิดควันโขมง ผู้คนของแผ่นดินนั้นถูกแสงอาทิตย์ แผดเผาจนตัวดำไปหมดสิ้น เป็นสีกายที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่ครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้ และแผ่นดินที่ถูกรถสุริยาทิตย์เข้าใกล้ในครั้งนั้นก็คือ แอฟริกานั่นเอง เฟอิทอนตื่นตกใจในเหตุอันตนทำให้เป็นไปจึงลงแส้ม้าชักรถให้ถอยห่างจากโลก ม้าก็เผ่นโผนโจนทะยานเหออกห่างโลกเสียลิบลับ ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารที่เหลือ รอดจากความร้อนอยู่บ้าง กลับเ!่ยวเฉาตายลงอีกเพราะความหนาวจัดฉับพลัน ทั้งแผ่นดินแผ่นน้ำตอนนั้นก็มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วไปหมด เสียงผู้คนร้องระงมดังขึ้นทุกที จนใน ที่สุดก็ปลุกซูสเทพบดีให้ตื่นจากบรรทมเล็งทิพยเนตรสืบสวนหาสาเหตุ ครั้นได้ความว่าเหตุเกิดจากเฟอิทอนบังอาจขับรถสุริยาทิตย์เช่นนั้น ไท้เธอก็พิโรธนัก คว้าอสนีบาต ฟาดไปที่เฟอิทอน บันดาลให้เฟอิทอนสิ้นชีวิตตกจากรถสุริยาทิตย์ลงสู่แม่น้ำ อีริดานัส ในพริบตา เฟอิทอนมีพี่สาวร่วมอุทร 3 คน เมื่อเฟอิทอนถึงแก่ความตาย นางทั้ง 3 ก็ไปร่ำไห้ที่ริมฝั่งแม่น้ำจนเทพทั้งปวงสงสารเลยแปลงนางเป็นต้นอำพันหลั่งน้ำตาเป็นอำพัน ตั้งแต่บัดนั้น ฝ่ายเพื่อนเล่นคู่หูคนหนึ่งของเฟอิทอนชื่อ ซิกนัส (Cygnus) ก็ลงงม หาศพ ดำผุดดำว่ายในแม่น้ำจนกลายเป็นต้นตะผมลหงส์เล่นน้ำสืบเชื้อสายพงศ์พันธุ์มา
จนตราบเท่าทุกวันนี้ ตำนานพฤกษชาติเกี่ยวกับเทพอพอลโล ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับเทพอพอลโลโดยตรงมีตำนานพฤกษชาติที่น่ารู้รวมอยู่ด้วย 2-3 เรื่อง เรื่องหนึ่งได้แก่ ตำนาน ต้นชัยพฤกษ์ ซึ่งชาวกรีกถือว่าเป็นต้นไม้คู่บารมีของสุริยเทพทีเดียว เรื่องหนึ่งคือตำนานของต้นไม้น้ำ ที่เราเรียกว่า ผักตบ กับตำนาน ต้นสนป่า และอีกเรื่องหนึ่งเป็น ตำนานต้นทานตะวัน ตำนานต้นชัยพฤกษ์นั้น อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับนาง แดฟนี (Daphne) ซึ่งเป็นนางอัปสร รูปงามธิดาของ พีนูส (Peneus) เทพประจำแม่น้ำตามเรื่องเล่าว่า อพอลโลได้พบนางในกลางป่า ให้บังเกิดความพิสมัย จึงเยื้องกราย เข้าหาหมายจะแทะโลม แต่ไม่ทันถึงนางก็วิ่งหนีไปเสียแล้ว ฝ่าย อพอลโลอารามที่ลืมไม่ว่า อะไรอื่นทั้งสิ้นจึงวิ่งตาม วิ่งพลางร้องเรียกให้นางแดฟนีหยุดแม้ชั่วขณะหนึ่ง เท่านั้นก็ตามที เธอสัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายเลย นางอัปสรไม่ยอมฟังคำสัญญาหรือวิงวอน ตั้งหน้าแต่รุดหนีอย่างเดียว ฝ่ายอพอลโลก็วิ่งกวด ตามไปโดยไม่ลดละ จนนางแดฟนีเริ่มอ่อนกำลังและตระหนักว่า ฝ่ายไล่กำลังรุกกระชั้นเข้าไปทุกที นางจึงวิ่งหนีกระหืดกระหอบอกสั่นลงยังริมฝั่งแม่น้ำของบิดา ขอให้แปลงร่างนางเสีย หรือบันดาลให้ นางจมลงไปในปฐพี ยังมิทันที่นางจะถึงริมฝั่งน้ำดี นางก็รู้สึกเหมือนหนึ่งตัวเองถูกตรึงติดกับพื้น ด้วย เท้าหยั่งลงในดินเป็นราก ผมและมือก็งอกออกเป็นใบ ส่วนเครื่องคลุมกายกลายเป็นเปลือกไม้ ปกคลุมร่างอันสั่นเทาของนางไป บิดาของนางตอบสนองการที่นางร้องให้ช่วยแล้ว โดยเปลี่ยนนางเป็น ต้นชัยพฤกษ์อยู่ ณ ที่นั้น ฝ่ายอพอลโลตามมาทันไม่เห็นนาง เห็นแต่ต้นไม้ ครั้งแรกเธอไม่รู้สึกเลยว่า สาวเจ้าลับจาก เธอไปแล้ว โดยไม่มีวันจะได้พบอีก แต่เมื่อความจริงเป็นที่ปรากฏดังนั้น เธอจึงมีเทพบรรหารว่า นับ แต่บัดนี้ต้นชัยพฤกษ์ จงเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของเธอ อันคนหลายคนพึงเด็ดช่อใบร้อยพวงมาลา เป็นรางวัลแก่กวีและนักดนตรีสืบไป เรื่องอพอลโลกับนางแดฟนีนี้ นอกจากจะแสดงตำนานของต้นชัยพฤกษ์แล้ว ยังเป็นนิทาน อุปมาถึงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่เกิดเป็นประจำวันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ (อพอลโล) และน้ำค้าง (แดฟนี) อีกโสดหนึ่งด้วย กล่าวคือยามดวงอาทิตย์ทอแสงลงมาเยี่ยมโลกเมื่อรุ่งอรุณ น้ำค้างที่ยังเหลือ อยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า และตามพื้นดินก็หายไปดุจดังนางแดฟนีหนีลับจากอพอลโล ตามท้องเรื่องที่เล่า มาแล้วฉะนั้ ต่อไปนี้จะเล่าตำนานผักตบและต้นสนป่า ตามท้องเรื่องที่เล่าสืบ ๆ มา ในเทพปกรณัมของกรีกว่า อพอลโล มีมนุษย์เป็นเพื่อนที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่งคนหนึ่งชื่อว่า ไฮยาซินทัส (Hyacinthus) และมานพนี้ก็เป็นเพื่อนกับ เสฟไฟรัส (Zephyrus) เทพ ประจำลมตะวันตกด้วย เสฟไฟรัสมีความริษยาสุริยเทพ และเคืองแค้นไฮยาซินทัส ในการที่สนิทสุริยเทพยิ่งกว่าตน วันหนึ่งอพอลโลกับไฮยาซินทัสเล่นทอยห่วงเหล็กกัน เสฟไฟรัสผ่านมาพบเข้า จึงคิดแกล้งให้อพอลโลโทมนัสโดยทำให้ไฮยาซินทัสตายเสีย เสฟไฟรัสก็แกล้งเป่าเหล็กของอพอลโลโดยแรงให้ถูกคู่เล่นล้มลง ฝ่ายอพอลโลเห็นเหตุ นั้นจึงกระทำปฐมพยาบาลห้ามเลือดซึ่งไหลออกจากแผลไฮยาซินทัส แต่เลือดก็หาหยุดไหลไม่ ไฮยาซินทัสทนพิษบาดแผลไม่ได้ จึงสิ้นใจลงในขณะนั้นเอง อพอลโลโทมนัสในการตายของปิยมิตรยิ่งนัก และเพื่อให้เป็นเครื่องระลึกถึงปิยมิตรผู้ตายเธอจึงบันดาลให้เลือดของไฮยาซินทัสที่ตกกองอยู่นั้นเป็นกอดอกไม้ เรียกว่า ไฮยาซิน (ผักตบ) ตามชื่อเจ้าของเลือดตั้งแต่นั้นมา ภายหลังมรณะกรรมของไฮยาซินทัส อพอลโลหันไปคบมนุษย์เป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งเพื่อให้หายโศก มานพนี้เป็นพรานหนุ่มที่เฉลียวฉลาด มีชื่อว่า ไซพาริสสัส (Cyparissus) แต่รายนี้ก็อีก เป็นมิตรภาพที่มีอันต้องสิ้นสุดลงด้วยความเศร้าโศก เป็นข้อยืนยันว่า อพอลโลมีความอาภัพในมิตรภาพ กล่าวคือ ไซพาริสสัส บังเอิญฆ่า ลูกกวางที่อพอลโลเลี้ยงไว้ ให้เสียใจนัก ไม่เป็นอันกินอันนอนจนซูบผอมลงไปทุกที และในที่สุดก็ตายด้วยความตรอมใจ อพอลโลจึงประสาทให้ร่างอันปราศจากชีวิตของ ไซพาริสสัสกลายเป็นต้นสนป่า และบรรหารว่าสืบแต่นั้นให้ต้นสนป่าจงเป็นต้นไม้สำหรับความร่มรื่นให้เกิดแก่หลุมศพของคนผู้เป็นที่รักของญาติมิตรต่อไป หน้าที่สำคัญที่อพอลโลปฏิบัติอยู่เป็นประจำวันนั้นได้แก่ การขับรถพระอาทิตย์ ขึ้นจากฟากมหาสมุทรเมื่อรุ่งอรุณโคจรไปตามสุริยวิถี ผ่านฟากฟ้าโดยไม่หยุดพักเลย จนถึงเรือทองที่จะจอดคอยเธอในทิศตะวันตก เมื่อสิ้นวันแล้วอพอลโลจึงลงเรือกลับคืนตำหนักสู่วังที่ประทับในทิศตะวันออก รอวันใหม่วนเวียนอยู่ดังนี้ทุกวันเป็นเนืองนิตย์ ยังมีนางอัปสรประจำน่านน้ำ ธิดาของโอเชียนัสกับนางเทวีทีธิสชื่อว่า ไคลที (Clytie) นางหลงใหลใฝ่ฝันในเทพอพอลโลอยู่ คอยเฝ้าดูการโคจรประจำวันของสุริย เทพทุกวัน แต่อพอลโลจะไยดีกับนางก็หาไม่ ถึงกระนั้นนางก็เฝ้าดูเธอทุกวัน นับตั้งแต่วาระเมื่อเธอทรงรถออกจากวังยามเช้าไปจนกระทั่งเธอโคจรถึงทะเลฟากตะวันตก โดย ผินหน้าตามไปมิให้อพอลโลคลาดจากสายตา หวังว่าสักวันหนึ่งอพอลโลคงจะบังเกิดความปฏิพัทธ์เสน่หานางบ้าง นางไคลทีสู้ทนเฝ้าคอยอยู่ดังนั้นเป็นเวลานานไม่ยอมละสาย ตาจากอพอลโลไปมองดูอื่น ในที่สุดเทพทั้งปวงมีความสงสาร จึงเปลี่ยนนางเป็นต้นทานตะวันชูดอกผินตามดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ บริวารของอพอลโล อพอลโลมีบริวารที่ควรกล่าวถึงอยู่เหล่าหนึ่ง ได้แก่ คณะศิลปวิทยาเทวี ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Muses เป็นเทวีประจำศิลปวิทยาการต่าง ๆ เกิดแต่ซูสเทพบดีกับนางนีโมซินี (Mnemosyne เทวีครองความจำ) มี 9 องค์ มีชื่อและวิชาการเกี่ยวข้องดังนี้ - ไคลโอ (Clio) ประจำประวัติศาสตร์ - ยูเรเนีย (Urania) ดาราศาสตร์ - เมลโพมีนี (Melpomene) เรื่องโศก(tragedy) - ธะไลอะ (Thalia) เรื่องสรวล (comedy) - เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) การฟ้อนรำ - คัลลิโอพี (Colliope) บทกวีเรื่อง - เออระโต (Erato) บทกวีรัก - ยูเทอร์พี (Euterpe) บทกวีร้อง - โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) บทกวีร่ายอาศิรพจน์ ...แต่บริวารที่ใกล้ชิดเธอที่สุด คือ อีออส (Eos) หรือ ออโรรา (Aurora) เป็นเทวีครองแสงเงินแสงทอง หรืออุษาเทวี ทำหน้าที่เปิดทวารมุกดา ยามอรุณรุ่งให้รถอพอลโลออก โคจร และพร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทอง เป็นสัญญาณเบิกทางโคจรของอพอลโลขึ้นด้วย เทพอพอลโล Apollo ...อพลโล (Apollo) เทพคู่แฝดผู้น้องของเทวีอาร์เตมิส คือเทพครองดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังชาวกรีกและโรมันถือว่า เป็นดวงอาทิตย์ทีเดียว เหมือนอย่างที่ถืออาร์เตมิสเป็นดวงจันทร์ฉันนั้น ในชั้นดั้งเดิมสุริยเทพของกรีกคือ ฮีลิออส(Helios) ซึ่งเป็นบุตรของโอเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง แลโตนา มารดาของอพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของเจ้า แม่ฮีรา เพราะเหตุเป็นที่ปฏิพัทธ์เสน่หาของ ซูส ต้องอุ้มครรภ์ หนีงู ไพธอน (Python) ของเจ้าแม่ ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้ประสูติบุตรในครรภ์ได้จน ถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสารบันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงให้ประสูติอพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะ นั้น ในทันทีที่ประสูติจากครรภ์มารดา อพอลโลก็จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียก ขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน (Felian) ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า "โอภาส" หรือ "ส่องแสง" เป็นอาทิ ชื่อหลังนี้มัก ใช้บวกกับชื่อประจำว่า ฟีบัส อพอลโล เนือง ๆ เมื่อให้ประสูติบุตรแล้ว นางแลโตนาก็ยังไม่พ้นการรังควานของเจ้าแม่ฮีรา ต้องดั้นด้นเซซังต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ ในเอเซียไมเนอร์ปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้า คาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับ ไล่ตะเพิดและด่าทอนางด้วยคำ หยาบช้า ทำให้ซูสเทพบดีกริ้วจัดนัก ถึงแก่ สาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด ตำนานเรื่องนี้เห็นจะแสดงว่าใน ละแวกนั้นมีกบ ชุม และกบปัจจุบันอาจสืบเชื้อสายจากชาว บ้านที่ถูกสาปเหล่านั้นก็เป็นได้ อพอลโลเป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือของเธอ นอกจากนี้เธอยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร เธอยังเป็นเทพผู้ถ่ายวิชาโรคศิลป์ ให้แก่มนุษย์เป็นปฐม เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืดและเป็นเทพแห่ง สัจธรรมผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในประเทศแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขาพาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่เธอ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว เทพอพอลโลได้สำแดงวีรกรรมสังหารผลาญชีวิตคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างู ยักษ์ไพธอนจนมีชื่อ เสียงมหาศาลแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส(Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทนคิดล้มซูสเทพบดีเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น แต่มีครั้งหนึ่งที่อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงไท้เทพซูสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดินคนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส หรือ เฮลาคลิสนั่นเอง เหตุเกิดเพราะเฮอร์คิวลิสไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟีแล้ว ได้รับคำทำนายไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะ พิธีใน วิหารแล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโลรีบรุดตามไปท้าเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่ นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ชะรอยซูสเห็น ท่าว่าขืนปล่อยไว้นานอพอลโลอาจจะเสียเปรียบพ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงเสด็จลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปแก่อพอลโล แล้วให้ เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่าผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน พระเจ้าไมดาส (Midas องค์ที่จับอะไรก็กลายเป็นทอง) เกิดตัดสินเข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีก จึงสาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที ตามเรื่องต่าง ๆ ที่เธอมีบทบาทอยู่ อพอลโลดูจะเป็นเทพใจสูงกว่าองค์อื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็นความโหดเ!้ยมดุร้ายของเธอดังเราจะเห็น จากเรื่องต่อไปนี้ การลงโทษนางไนโอบี เทพอพอลโลกับเทวีอาร์เตมิสเป็นที่สวาสดิ์ภาคภูมิใจของมารดายิ่งนัก นางถึงแก่โอ้อวดคุยฟุ้งเฟื่องไปไกลว่าจะหาบุตรใครเสมอบุตรของนางเห็นจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบกันในเชิงสิริรูป สติปัญญา หรือพลังอำนาจ ก็ต้องแพ้บุตรของนางหลุดลุ่ย ความนี้เลื่องลือไปถึงนาง ไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นธิดาของท้าว แทนทะลัส (Tantalus) และมเหสีเจ้ากรุง ธีบส์ (Thebes) นางไนโอบีกลับหัวเราะเยาะและค่อนว่า นางแลโตยามีลูกจะอวดกับเขาแต่เพียง 2 เท่านี้หรือ ส่วนนางเองสิมีถึง 14 เป็นชาย 7 ล้วนแต่มีรูปกำยำงามสง่า และเป็นหญิงล้วนแต่ทรงโฉมวิลาสวิไลถึง 7 นางไนโอบีลั่นวาจาก้าวร้าวสบประมาทนางแลโตนาอีกเป็นอันมาก ซ้ำยังกำเริบเสิบสานถึงแก่ห้ามชาวเมือง ของนางกระทำบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิส แถมบังอาจสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทวีคู่นี้จากแท่นที่บูชา ในอาณาจักรของนางอีกด้วย นางแลโตนาโกรธแค้นหนักหนาในการที่ถูกหยามหยาบถึงเพียงนี้ จึงเรียกบุตรและ ธิดาเคียงข้าง และสั่งให้ออกตามฆ่าบุตรและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้น เทพบุตรเทพธิดาคู่แฝดอยู่ในอารมณ์ขึ้งเคียดเต็มที่ จึงขมีขมันออกไปตามคำสั่งทันที อพอลโลพบมานพทั้ง 7 ออกล่า! จึงประหารเสียด้วยลูกธนูตายหมดทั้ง 7 คน เมื่อข่าวการตายของบุตรรู้ไปถึงนางไนโอบี นางก็โศกเศร้า โทมนัสนัก ฝ่ายเจ้ากรุงธีบส์สวามีก็ทำลายตัวเองสิ้นไปด้วยอีกคนหนึ่ง ยังเหลือธิดาทั้ง 7 ยังไม่ทันที่มารดาจะวายโศก ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสจองประหารอีก มิใยสาวผู้ถึงฆาตทั้ง 7 จะพยายามหนีให้พ้นลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานอย่างไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ แม้นาง ไนโอบีจะพยายามปกป้องลูก และอ้อนวอนขอความอารักขาคุ้มครองจากทวยเทพบนเขาโอลิมปัสสักเท่าใดก็ไม่เป็น ผล ธิดาของนางต้องศรล้มกลิ้งตายกันระเนระนาด ที่สุดจนนางที่ซุกอยู่ระหว่างอุระของมารดา เทวีอาร์เตมิสผู้อาฆาตก็ไม่ละเว้น ลูกธนูของเจ้าแม่แล่นเข้าเป้าเสียบนางนั้น ให้วายชีวิตไปแทบอุระของมารดาจนได้ นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและบุตรธิดาที่มาดหมายเหลือแต่นางเดียวดายถึงไม่ตายก็เหมือนตาย ความเศร้ารันทดหนุนเนื่องประดังขึ้นมาแน่นอุระ นางก็แข็งชาไปทั้ง ร่างกาย มิอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ อนิจจา! ร่างของนางกลายเป็นหินตื้อตันไปหมด คงอยู่แต่หยาดน้ำตารินไม่สิ้นสุด แต่วันนั้นมาจนวันนี้ น้ำตานางจะหยุดไหลก็หา ไม่ ส่วนรูปหินของนางไนโอบีก็ยังปรากฏอยู่บนเขา ไซปิลัส (Sipylus) จนตราบเท่าทุกวันนี้ นักเทพปกรณัมวิทยาเขาว่ากันว่า เรื่องนี้ก็คือ ตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์เมื่อสิ้นฤดูหนาว ซึ่งนางไนโอบีนั้นหมายถึงฤดูหนาว บุตรทั้ง 7 คือระยะ กาลแห่งความหนาว และลูกธนูของอพอลโลก็คือแสงอาทิตย์ อพอลโลถูกเนรเทศ เมื่อยังเยาว์อพอลโลเที่ยวไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ มีดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนและแคว้นเธสสะลีเป็นต้น เธอเที่ยวผูก สมัครรักใคร่หญิงทั่วไปตามวิสัยหนุ่มรุ่น ในแคว้นเธสสะลีมีสาวเจ้าคนหนึ่งงามนัก ชื่อว่า โครอนนิส (Coronis) เป็นธิดาเจ้าแห่งแคว้นนั้น อพอลโลผูกสมัครรักใคร่ได้ เสียกับนางจนเกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่นางกลับปรากฏว่าเป็นหญิงหลายใจ ในระหว่างที่นางมีครรภ์ อพอลโลให้นกดุเหว่าขนขาวปลอดตัวหนึ่งเฝ้านางไว้ เมื่อนางคบชู้ นกก็ไปบอกข่าวแก่เทพผู้เป็นนาย อพอลโลบันดาลโทสะ พลอยสาปนกซึ่ง บอกข่าวอัปมงคลให้กลับมีขนสีดำไป ดังนั้นนกดุเหว่าจึงมีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา ส่วนนางโครอนนิสถูกฆ่า ว่ากันว่าด้วยน้ำมือของเทพอพอลโลเองบ้าง ด้วยคมศรของเจ้าแม่ อาร์เตมิสบ้าง แต่บุตรในครรภ์ซึ่งจวนจะครบกำหนดคลอดนั้นรอดตาย ด้วยอพอลโล(บ้างก็ว่าเฮอร์มีส) เอาออกจากครรภ์ ตอนเผาศพนางโครอนนิส แล้วมอบให้แก่ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์ เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้เลี้ยงดู ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ไครอนนี้เป็นอาจารย์ผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มีวิชาดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น เป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณว่า เป็นผู้ สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้พืชสมุนไพรทำยา และเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆ ในเทพปกรณัมมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส และคนอื่น ๆ อีก ในตอนปลายอายุถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษ โดยความสำคัญผิดของเฮอร์คิวลีสในระหว่างที่ตามล้างเซนทอร์พวกหนึ่ง แม้เฮอร์คิวลิสจะช่วยแก้ไขให้รอดตาย และ ไครอนแม้จะเป็นหมออยู่กับตัว แต่ก็ไม่สามารถถอนพิษยาได้ พิษยาบันดาลให้ไครอนเจ็บปวดรวดร้าวนักหนา ซูสเทพบดีจึงโปรดให้กลายเป็นดาวอยู่ในกลุ่มดาวชื่อ แซชจิเตริอัส (Sagitarius) บุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับฝากไว้นั้นได้ขนานชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาดเฉลียวมีความเข้าใจแตกฉานและเป็น ที่รักของอาจารย์อย่างยิ่งวิชาที่เขาใส่ใจศึกษาที่สุดได้แก่ โรคศิลป์ เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นหมอบำบัดโรคผู้มีความสามารถยิ่ง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสในการบำบัดโรคนั้นยิ่งกว่าของอาจารย์มาก ด้วยที่สามารถบำบัดโรคและความป่วย ไข้ได้ทุกชีวิต ซึ่งไครอนเองทำไม่ได้ ในไม่ช้าชื่อ เสียงของเอสคิวเลปิอัสก็เลื่องลือไปไกล ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ได้ป่วย หนักหนาสาหัส หรือเล็กน้อย ถ้าได้รับการบำบัดจากเขาแล้วก็ทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าหายวันหายคืนเลย ทีเดียว ผู้คนพากันไปขอรับการบำบัดโรค ณ สำนักของเขา ทั้งจากใกล้และไกลทุกทิศทาง นับว่าการบำเพ็ญประโยชน์ของ เอสคิวเลปิอัสแผ่ไพศาลยิ่ง ทั้งโดยเนื้อ นาบุญและโดยระยะทาง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสเป็นที่เลื่องลือไปจนว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเขาสามารถแก้คนตายให้ฟื้นได้ อัน เป็นเหตุ ให้เทพปริณายกซูส กับเทพฮาเดส เจ้าแห่งแดนคนตายเดือดร้อน ทั้งริษยาและหวั่นเกรงในอำนาจ บารมีของ เอสคิวเลปิอัส หากปล่อยไว้นานไปเบื้องหน้าจะทำให้มนุษย์กำเริบอีก เห็นว่าจะละไว้มิได้ ซูสจึงประหาร เอสคิวเลปิอัส ด้วยอสนีบาต เทพอพอลโลบันดาลโทสะกล้าในการตายของบุตร แต่ไม่รู้จะโกรธเอากับเทพบิดาอย่างไร จึงหันไปไล่ เบี้ยเอากับช่างประกอบอสนีบาตถวายซูส คือ เทพฮีฟีสทัส กับยักษ์ไซคลอปส์ เธอน้าวคันธนูเงินมุ่งจะยิงธนู สังหารยักษ์ไซคลอปส์เสียให้สมแค้น แต่ซูสไม่ยอมให้อพอลโลทำเช่นนั้นได้ และเพื่อจะลงโทษบุตรในความ อุกอาจดังนี้ ไท้เธอจึงเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ในมนุษย์โลก และให้เป็นข้าของมนุษย์เป็นเวลา 1 ปีเสียก่อน จึงจะพ้นโทษ เรื่องของเฟอิทอน นอกจากเอสคิวเลปิอัสแล้ว อพอลโลยังมีบุตรอีกคนหนึ่ง แต่เกิดกับนางอัปสร ไคลมินี (Clymene) ชื่อเฟอิทอน (Phaeton) วันหนึ่งเฟอิทอนถูก เพื่อนเรียนหนังสือด้วยกันหัวเราะเยาะ ในการที่อ้างตนเป็นบุตรสุริยเทพ เฟอิทอนทั้งเคืองทั้งอับอายกลับมารบเร้าให้มารดาพาไปหาบิดา เพื่อให้ได้หลักฐานพิสูจน์ว่าตนเป็น บุตรเทพอพอลโลจริง นางไคลมินีจึงบอกทางให้บุตรเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนกว่าจะถึงวังที่ประทับของอพอลโล ณ ที่นั้นจะได้พบกับบิดาสมประสงค์ เฟอิทอนรีบดั้นเดินทางโดยไม่หยุดพัก จนล่วงเข้าเขตวังของบิดา แม้ภูมิทำเลบริเวณวังจะงดงามตระการเพียงใด และตำหนักที่ประทับของอพอลโลก็เรืองวิจิตรน่า พรึงเพริดสักปานใด เฟอิทอนก็หาแยแสใส่ใจไม่ ฝ่ายอพอลโลเห็นกุมารเข้าไปใกล้ก็จำได้ว่าเป็นบุตร และเมื่อเฟอิทอนขึ้นถึงบัลลังก์ที่เธอประทับอยู่เธอก็ปฏิสันถารกับ เฟอิทอนอย่างบิดากับบุตร สั่งถามถึงธุระในการที่มาเฝ้า เฟอิทอนจึงทูลแถลงถึงเรื่องราวและความที่พึงประสงค์ พอจบเทพอพอลโลก็ออกอุทานวาจาว่า อนุญาตให้เฟอิทอนได้ ข้อพิสูจน์ตามแต่จะพึงประสงค์ พร้อมทั้งสาบานยืนยันมั่นคง โดยอ้างแม่น้ำสติกส์เป็นทิพยพยานอีกด้วย การสาบานโดยการอ้างชื่อแม่น้ำสติกส์นี้ เป็นการสาบานอันเคร่งครัดที่สุด ซึ่งลงว่าเทพองค์ใดลั่นสาบานแล้ว เทพองค์นั้นจะล่วงละเมิดไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเทพผู้ ล่วงละเมิดไม่ปฏิบัติตามสาบาน จะต้องเสวยน้ำในแม่น้ำนี้ซึ่งจะทำให้ปัญญาเสื่อมเศร้าหมองเป็นเวลา 1 ปี กับจะต้องถูกขับออกจากเขาโอลิมปัสและงดเสวยน้ำอมฤตอีก 9 ปี เฟอิทอนฟังคำสาบานดังนั้น จึงขออนุญาตขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาในวันนั้น เพื่อว่าโลกทั้งมวลจะได้ตระหนักชัดว่า เธอเป็นบุตรสุริยเทพสมจริงตามที่กล่าวอ้าง ก็ แหละรถพระอาทิตย์นั้ไม่ใช่ของสำหรับใครจะขับได้ ด้วยว่าผู้ที่สามารถควบคุมม้าเทียมทั้ง 4 แสนจะพยศที่ลากรถนั้นจะมีก็แต่เทพอพอลโลองค์เดียว เมื่อเฟอิทอนขออนุญาต ขับรถแทนอพอลโลก็ถึงแก่สะดุ้งประหวั่นเกรงจะเกิดเหตุยุ่งยากและเดือดร้อนไปทั่วโลกพิภพและจักรวาล จึงบ่ายเบี่ยงบอกเฟอิทอนให้ขอพรอย่างอื่น ฝ่ายเฟอิทอนมีจิต กำเริบดื้อดึงขึ้นมาเสียแล้ว คงยืนกรานที่จะขอขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาให้จงได้ ในที่สุดสุริยเทพซึ่งลั่นสาบานอันไม่พึงล่วงละเมิดออกไปเสียแล้วสุดที่จะบ่ายเบี่ยงต่อไปอีกได้ ก็จำต้องยอมอนุญาตให้เฟอิทอนขับรถพระอาทิตย์แทนได้ดังประสงค์ กำหนดเวลาออกรถดลมาถึงพร้อมแล้ว ม้าเทียมรถก็เตรียมเผ่นโผนโจนทะยานออกอยู่แล้ว นางประจำยามเข้าเคียงข้างรถอยู่พร้อมสรรพฝ่ายอุษาเทวีก็คอย อาณัติสัญญาณสั่งจากสุริยเทพ เตรียมไขทวารเบิกม่านฟ้าอยู่ทีเดียว ฝ่ายเทพอพอลโลจัดแจงชโลมเฟอิทอนด้วยของเย็นกันถูกแสงอาทิตย์แผดเผา พลางสั่งเฟอิทอนให้ขับรถรักษาเส้นทางโคจรเดิมไว้ให้ดี อย่าให้รถออกนอกทางเป็น อันขาด เธอสั่งย้ำซ้ำซากให้บุตรกวดขันระมัดระวังม้าเทียมโดยเคร่งครัดอย่างที่สุด และให้ใช้แส้แต่โดยออมชอมเท่านั้นด้วยว่ามันเป็นม้าที่พยศมาก หนุ่มน้อยฟังบิดาสั่งเสียอย่างระอิดระอา แล้วก็โดดขึ้นนั่งรถทองรวบสายบังเ!ยน ให้สัญญาณอุษาเทวีเปิดทวารและขับรถออกจากวังสุริยเทพด้วยความกระหยิ่ม ลำพองใจ ในชั่วโมงแรก ๆ เฟอิทอนสังวรในคำสั่งเสียของบิดา แต่แล้วความกำเริบเสิบสานเข้าครอบงำ ทำให้ลืมคำสั่งของบิดาเสีย เฟอิทอนขับรถเร็วขึ้นทุกทีจนรถออกนอก ทางโคจรไป ดวงจันทร์และดาราน้อยใหญ่พากันตื่นตระหนกที่ได้เห็นรถสุริยาทิตย์แล่นเตลิดไปกลางหาว แต่ก็ไม่มีปัญญาจะทำประการใดได้ และเฟอิทอนก็ขับรถใกล้โลก พิภพเข้ามาทุกที จนเป็นเหตุให้พืชพันธ์ทั้งปวงเ!่ยวแห้งตายหมด น้ำในแม่น้ำลำธารก็เหือดแห้ง แผ่นดินไหม้เกรียมจนเกิดควันโขมง ผู้คนของแผ่นดินนั้นถูกแสงอาทิตย์ แผดเผาจนตัวดำไปหมดสิ้น เป็นสีกายที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่ครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้ และแผ่นดินที่ถูกรถสุริยาทิตย์เข้าใกล้ในครั้งนั้นก็คือ แอฟริกานั่นเอง เฟอิทอนตื่นตกใจในเหตุอันตนทำให้เป็นไปจึงลงแส้ม้าชักรถให้ถอยห่างจากโลก ม้าก็เผ่นโผนโจนทะยานเหออกห่างโลกเสียลิบลับ ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารที่เหลือ รอดจากความร้อนอยู่บ้าง กลับเ!่ยวเฉาตายลงอีกเพราะความหนาวจัดฉับพลัน ทั้งแผ่นดินแผ่นน้ำตอนนั้นก็มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วไปหมด เสียงผู้คนร้องระงมดังขึ้นทุกที จนใน ที่สุดก็ปลุกซูสเทพบดีให้ตื่นจากบรรทมเล็งทิพยเนตรสืบสวนหาสาเหตุ ครั้นได้ความว่าเหตุเกิดจากเฟอิทอนบังอาจขับรถสุริยาทิตย์เช่นนั้น ไท้เธอก็พิโรธนัก คว้าอสนีบาต ฟาดไปที่เฟอิทอน บันดาลให้เฟอิทอนสิ้นชีวิตตกจากรถสุริยาทิตย์ลงสู่แม่น้ำ อีริดานัส ในพริบตา เฟอิทอนมีพี่สาวร่วมอุทร 3 คน เมื่อเฟอิทอนถึงแก่ความตาย นางทั้ง 3 ก็ไปร่ำไห้ที่ริมฝั่งแม่น้ำจนเทพทั้งปวงสงสารเลยแปลงนางเป็นต้นอำพันหลั่งน้ำตาเป็นอำพัน ตั้งแต่บัดนั้น ฝ่ายเพื่อนเล่นคู่หูคนหนึ่งของเฟอิทอนชื่อ ซิกนัส (Cygnus) ก็ลงงมหาศพ ดำผุดดำว่ายในแม่น้ำจนกลายเป็นต้นตะผมลหงส์เล่นน้ำสืบเชื้อสายพงศ์พันธุ์มา จนตราบเท่าทุกวันนี้ ตำนานพฤกษชาติเกี่ยวกับเทพอพอลโล ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับเทพอพอลโลโดยตรงมีตำนานพฤกษชาติที่น่ารู้รวมอยู่ด้วย 2-3 เรื่อง เรื่องหนึ่งได้แก่ ตำนาน ต้นชัยพฤกษ์ ซึ่งชาวกรีกถือว่าเป็นต้นไม้คู่บารมีของสุริยเทพทีเดียว เรื่องหนึ่งคือตำนานของต้นไม้น้ำ ที่เราเรียกว่า ผักตบ กับตำนาน ต้นสนป่า และอีกเรื่องหนึ่งเป็น ตำนานต้นทานตะวัน ตำนานต้นชัยพฤกษ์นั้น อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับนาง แดฟนี (Daphne) ซึ่งเป็นนางอัปสร รูปงามธิดาของ พีนูส (Peneus) เทพประจำแม่น้ำตามเรื่องเล่าว่า อพอลโลได้พบนางในกลางป่า ให้บังเกิดความพิสมัย จึงเยื้องกราย เข้าหาหมายจะแทะโลม แต่ไม่ทันถึงนางก็วิ่งหนีไปเสียแล้ว ฝ่าย อพอลโลอารามที่ลืมไม่ว่า อะไรอื่นทั้งสิ้นจึงวิ่งตาม วิ่งพลางร้องเรียกให้นางแดฟนีหยุดแม้ชั่วขณะหนึ่ง เท่านั้นก็ตามที เธอสัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายเลย นางอัปสรไม่ยอมฟังคำสัญญาหรือวิงวอน ตั้งหน้าแต่รุดหนีอย่างเดียว ฝ่ายอพอลโลก็วิ่งกวด ตามไปโดยไม่ลดละ จนนางแดฟนีเริ่มอ่อนกำลังและตระหนักว่า ฝ่ายไล่กำลังรุกกระชั้นเข้าไปทุกที นางจึงวิ่งหนีกระหืดกระหอบอกสั่นลงยังริมฝั่งแม่น้ำของบิดา ขอให้แปลงร่างนางเสีย หรือบันดาลให้ นางจมลงไปในปฐพี ยังมิทันที่นางจะถึงริมฝั่งน้ำดี นางก็รู้สึกเหมือนหนึ่งตัวเองถูกตรึงติดกับพื้น ด้วย เท้าหยั่งลงในดินเป็นราก ผมและมือก็งอกออกเป็นใบ ส่วนเครื่องคลุมกายกลายเป็นเปลือกไม้ ปกคลุมร่างอันสั่นเทาของนางไป บิดาของนางตอบสนองการที่นางร้องให้ช่วยแล้ว โดยเปลี่ยนนางเป็น ต้นชัยพฤกษ์อยู่ ณ ที่นั้น ฝ่ายอพอลโลตามมาทันไม่เห็นนาง เห็นแต่ต้นไม้ ครั้งแรกเธอไม่รู้สึกเลยว่า สาวเจ้าลับจาก เธอไปแล้ว โดยไม่มีวันจะได้พบอีก แต่เมื่อความจริงเป็นที่ปรากฏดังนั้น เธอจึงมีเทพบรรหารว่า นับ แต่บัดนี้ต้นชัยพฤกษ์ จงเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของเธอ อันคนหลายคนพึงเด็ดช่อใบร้อยพวงมาลา เป็นรางวัลแก่กวีและนักดนตรีสืบไป เรื่องอพอลโลกับนางแดฟนีนี้ นอกจากจะแสดงตำนานของต้นชัยพฤกษ์แล้ว ยังเป็นนิทาน อุปมาถึงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่เกิดเป็นประจำวันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ (อพอลโล) และน้ำค้าง (แดฟนี) อีกโสดหนึ่งด้วย กล่าวคือยามดวงอาทิตย์ทอแสงลงมาเยี่ยมโลกเมื่อรุ่งอรุณ น้ำค้างที่ยังเหลือ อยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า และตามพื้นดินก็หายไปดุจดังนางแดฟนีหนีลับจากอพอลโล ตามท้องเรื่องที่เล่า มาแล้วฉะนั้ ต่อไปนี้จะเล่าตำนานผักตบและต้นสนป่า ตามท้องเรื่องที่เล่าสืบ ๆ มา ในเทพปกรณัมของกรีกว่า อพอลโล มีมนุษย์เป็นเพื่อนที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่งคนหนึ่งชื่อว่า ไฮยาซินทัส (Hyacinthus) และมานพนี้ก็เป็นเพื่อนกับ เสฟไฟรัส (Zephyrus) เทพ ประจำลมตะวันตกด้วย เสฟไฟรัสมีความริษยาสุริยเทพ และเคืองแค้นไฮยาซินทัส ในการที่สนิทสุริยเทพยิ่งกว่าตน วันหนึ่งอพอลโลกับไฮยาซินทัสเล่นทอยห่วงเหล็กกัน เสฟไฟรัสผ่านมาพบเข้า จึงคิดแกล้งให้อพอลโลโทมนัสโดยทำให้ไฮยาซินทัสตายเสีย เสฟไฟรัสก็แกล้งเป่าเหล็กของอพอลโลโดยแรงให้ถูกคู่เล่นล้มลง ฝ่ายอพอลโลเห็นเหตุ นั้นจึงกระทำปฐมพยาบาลห้ามเลือดซึ่งไหลออกจากแผลไฮยาซินทัส แต่เลือดก็หาหยุดไหลไม่ ไฮยาซินทัสทนพิษบาดแผลไม่ได้ จึงสิ้นใจลงในขณะนั้นเอง อพอลโลโทมนัสในการตายของปิยมิตรยิ่งนัก และเพื่อให้เป็นเครื่องระลึกถึงปิยมิตรผู้ตายเธอจึงบันดาลให้เลือดของไฮยาซินทัสที่ตกกองอยู่นั้นเป็นกอดอกไม้ เรียกว่า ไฮยาซิน (ผักตบ) ตามชื่อเจ้าของเลือดตั้งแต่นั้นมา ภายหลังมรณะกรรมของไฮยาซินทัส อพอลโลหันไปคบมนุษย์เป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งเพื่อให้หายโศก มานพนี้เป็นพรานหนุ่มที่เฉลียวฉลาด มีชื่อว่า ไซพาริสสัส (Cyparissus) แต่รายนี้ก็อีก เป็นมิตรภาพที่มีอันต้องสิ้นสุดลงด้วยความเศร้าโศก เป็นข้อยืนยันว่า อพอลโลมีความอาภัพในมิตรภาพ กล่าวคือ ไซพาริสสัส บังเอิญฆ่า ลูกกวางที่อพอลโลเลี้ยงไว้ ให้เสียใจนัก ไม่เป็นอันกินอันนอนจนซูบผอมลงไปทุกที และในที่สุดก็ตายด้วยความตรอมใจ อพอลโลจึงประสาทให้ร่างอันปราศจากชีวิตของ ไซพาริสสัสกลายเป็นต้นสนป่า และบรรหารว่าสืบแต่นั้นให้ต้นสนป่าจงเป็นต้นไม้สำหรับความร่มรื่นให้เกิดแก่หลุมศพของคนผู้เป็นที่รักของญาติมิตรต่อไป หน้าที่สำคัญที่อพอลโลปฏิบัติอยู่เป็นประจำวันนั้นได้แก่ การขับรถพระอาทิตย์ ขึ้นจากฟากมหาสมุทรเมื่อรุ่งอรุณโคจรไปตามสุริยวิถี ผ่านฟากฟ้าโดยไม่หยุดพักเลย จนถึงเรือทองที่จะจอดคอยเธอในทิศตะวันตก เมื่อสิ้นวันแล้วอพอลโลจึงลงเรือกลับคืนตำหนักสู่วังที่ประทับในทิศตะวันออก รอวันใหม่วนเวียนอยู่ดังนี้ทุกวันเป็นเนืองนิตย์ ยังมีนางอัปสรประจำน่านน้ำ ธิดาของโอเชียนัสกับนางเทวีทีธิสชื่อว่า ไคลที (Clytie) นางหลงใหลใฝ่ฝันในเทพอพอลโลอยู่ คอยเฝ้าดูการโคจรประจำวันของสุริย เทพทุกวัน แต่อพอลโลจะไยดีกับนางก็หาไม่ ถึงกระนั้นนางก็เฝ้าดูเธอทุกวัน นับตั้งแต่วาระเมื่อเธอทรงรถออกจากวังยามเช้าไปจนกระทั่งเธอโคจรถึงทะเลฟากตะวันตก โดย ผินหน้าตามไปมิให้อพอลโลคลาดจากสายตา หวังว่าสักวันหนึ่งอพอลโลคงจะบังเกิดความปฏิพัทธ์เสน่หานางบ้าง นางไคลทีสู้ทนเฝ้าคอยอยู่ดังนั้นเป็นเวลานานไม่ยอมละสาย ตาจากอพอลโลไปมองดูอื่น ในที่สุดเทพทั้งปวงมีความสงสาร จึงเปลี่ยนนางเป็นต้นทานตะวันชูดอกผินตามดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ บริวารของอพอลโล อพอลโลมีบริวารที่ควรกล่าวถึงอยู่เหล่าหนึ่ง ได้แก่ คณะศิลปวิทยาเทวี ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Muses เป็นเทวีประจำศิลปวิทยาการต่าง ๆ เกิดแต่ซูสเทพบดีกับนางนีโมซินี (Mnemosyne เทวีครองความจำ) มี 9 องค์ มีชื่อและวิชาการเกี่ยวข้องดังนี้ - ไคลโอ (Clio) ประจำประวัติศาสตร์ - ยูเรเนีย (Urania) ดาราศาสตร์ - เมลโพมีนี (Melpomene) เรื่องโศก(tragedy) - ธะไลอะ (Thalia) เรื่องสรวล (comedy) - เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) การฟ้อนรำ - คัลลิโอพี (Colliope) บทกวีเรื่อง - เออระโต (Erato) บทกวีรัก - ยูเทอร์พี (Euterpe) บทกวีร้อง - โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) บทกวีร่ายอาศิรพจน์ ...แต่บริวารที่ใกล้ชิดเธอที่สุด คือ อีออส (Eos) หรือ ออโรรา (Aurora) เป็นเทวีครองแสงเงินแสงทอง หรืออุษาเทวี ทำหน้าที่เปิดทวารมุกดา ยามอรุณรุ่งให้รถอพอลโลออก โคจร และพร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทอง เป็นสัญญาณเบิกทางโคจรของอพอลโลขึ้นด้วย เทพอพอลโล Apollo ...อพลโล (Apollo) เทพคู่แฝดผู้น้องของเทวีอาร์เตมิส คือเทพครองดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังชาวกรีกและโรมันถือว่า เป็นดวงอาทิตย์ทีเดียว เหมือนอย่างที่ถืออาร์เตมิสเป็นดวงจันทร์ฉันนั้น ในชั้นดั้งเดิมสุริยเทพของกรีกคือ ฮีลิออส(Helios) ซึ่งเป็นบุตรของโอเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง แลโตนา มารดาของอพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของเจ้า แม่ฮีรา เพราะเหตุเป็นที่ปฏิพัทธ์เสน่หาของ ซูส ต้องอุ้มครรภ์ หนีงู ไพธอน (Python) ของเจ้าแม่ ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้ประสูติบุตรในครรภ์ได้จน ถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสารบันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงให้ประสูติอพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะ นั้น ในทันทีที่ประสูติจากครรภ์มารดา อพอลโลก็จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียก ขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน (Felian) ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า "โอภาส" หรือ "ส่องแสง" เป็นอาทิ ชื่อหลังนี้มัก ใช้บวกกับชื่อประจำว่า ฟีบัส อพอลโล เนือง ๆ เมื่อให้ประสูติบุตรแล้ว นางแลโตนาก็ยังไม่พ้นการรังควานของเจ้าแม่ฮีรา ต้องดั้นด้นเซซังต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ ในเอเซียไมเนอร์ปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้า คาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับ ไล่ตะเพิดและด่าทอนางด้วยคำ หยาบช้า ทำให้ซูสเทพบดีกริ้วจัดนัก ถึงแก่ สาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด ตำนานเรื่องนี้เห็นจะแสดงว่าใน ละแวกนั้นมีกบ ชุม และกบปัจจุบันอาจสืบเชื้อสายจากชาว บ้านที่ถูกสาปเหล่านั้นก็เป็นได้ อพอลโลเป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือของเธอ นอกจากนี้เธอยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร เธอยังเป็นเทพผู้ถ่ายวิชาโรคศิลป์ ให้แก่มนุษย์เป็นปฐม เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืดและเป็นเทพแห่ง สัจธรรมผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในประเทศแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขาพาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่เธอ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว เทพอพอลโลได้สำแดงวีรกรรมสังหารผลาญชีวิตคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างู ยักษ์ไพธอนจนมีชื่อ เสียงมหาศาลแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส(Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทนคิดล้มซูสเทพบดีเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น แต่มีครั้งหนึ่งที่อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงไท้เทพซูสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดินคนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส หรือ เฮลาคลิสนั่นเอง เหตุเกิดเพราะเฮอร์คิวลิสไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟีแล้ว ได้รับคำทำนายไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะ พิธีใน วิหารแล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโลรีบรุดตามไปท้าเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่ นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ชะรอยซูสเห็น ท่าว่าขืนปล่อยไว้นานอพอลโลอาจจะเสียเปรียบพ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงเสด็จลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปแก่อพอลโล แล้วให้ เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่าผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน พระเจ้าไมดาส (Midas องค์ที่จับอะไรก็กลายเป็นทอง) เกิดตัดสินเข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีก จึงสาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที ตามเรื่องต่าง ๆ ที่เธอมีบทบาทอยู่ อพอลโลดูจะเป็นเทพใจสูงกว่าองค์อื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็นความโหดเ!้ยมดุร้ายของเธอดังเราจะเห็น จากเรื่องต่อไปนี้ การลงโทษนางไนโอบี เทพอพอลโลกับเทวีอาร์เตมิสเป็นที่สวาสดิ์ภาคภูมิใจของมารดายิ่งนัก นางถึงแก่โอ้อวดคุยฟุ้งเฟื่องไปไกลว่าจะหาบุตรใครเสมอบุตรของนางเห็นจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบกันในเชิงสิริรูป สติปัญญา หรือพลังอำนาจ ก็ต้องแพ้บุตรของนางหลุดลุ่ย ความนี้เลื่องลือไปถึงนาง ไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นธิดาของท้าว แทนทะลัส (Tantalus) และมเหสีเจ้ากรุง ธีบส์ (Thebes) นางไนโอบีกลับหัวเราะเยาะและค่อนว่า นางแลโตยามีลูกจะอวดกับเขาแต่เพียง 2 เท่านี้หรือ ส่วนนางเองสิมีถึง 14 เป็นชาย 7 ล้วนแต่มีรูปกำยำงามสง่า และเป็นหญิงล้วนแต่ทรงโฉมวิลาสวิไลถึง 7 นางไนโอบีลั่นวาจาก้าวร้าวสบประมาทนางแลโตนาอีกเป็นอันมาก ซ้ำยังกำเริบเสิบสานถึงแก่ห้ามชาวเมือง ของนางกระทำบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิส แถมบังอาจสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทวีคู่นี้จากแท่นที่บูชา ในอาณาจักรของนางอีกด้วย นางแลโตนาโกรธแค้นหนักหนาในการที่ถูกหยามหยาบถึงเพียงนี้ จึงเรียกบุตรและ ธิดาเคียงข้าง และสั่งให้ออกตามฆ่าบุตรและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้น เทพบุตรเทพธิดาคู่แฝดอยู่ในอารมณ์ขึ้งเคียดเต็มที่ จึงขมีขมันออกไปตามคำสั่งทันที อพอลโลพบมานพทั้ง 7 ออกล่า! จึงประหารเสียด้วยลูกธนูตายหมดทั้ง 7 คน เมื่อข่าวการตายของบุตรรู้ไปถึงนางไนโอบี นางก็โศกเศร้า โทมนัสนัก ฝ่ายเจ้ากรุงธีบส์สวามีก็ทำลายตัวเองสิ้นไปด้วยอีกคนหนึ่ง ยังเหลือธิดาทั้ง 7 ยังไม่ทันที่มารดาจะวายโศก ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสจองประหารอีก มิใยสาวผู้ถึงฆาตทั้ง 7 จะพยายามหนีให้พ้นลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานอย่างไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ แม้นาง ไนโอบีจะพยายามปกป้องลูก และอ้อนวอนขอความอารักขาคุ้มครองจากทวยเทพบนเขาโอลิมปัสสักเท่าใดก็ไม่เป็น ผล ธิดาของนางต้องศรล้มกลิ้งตายกันระเนระนาด ที่สุดจนนางที่ซุกอยู่ระหว่างอุระของมารดา เทวีอาร์เตมิสผู้อาฆาตก็ไม่ละเว้น ลูกธนูของเจ้าแม่แล่นเข้าเป้าเสียบนางนั้น ให้วายชีวิตไปแทบอุระของมารดาจนได้ นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและบุตรธิดาที่มาดหมายเหลือแต่นางเดียวดายถึงไม่ตายก็เหมือนตาย ความเศร้ารันทดหนุนเนื่องประดังขึ้นมาแน่นอุระ นางก็แข็งชาไปทั้ง ร่างกาย มิอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ อนิจจา! ร่างของนางกลายเป็นหินตื้อตันไปหมด คงอยู่แต่หยาดน้ำตารินไม่สิ้นสุด แต่วันนั้นมาจนวันนี้ น้ำตานางจะหยุดไหลก็หา ไม่ ส่วนรูปหินของนางไนโอบีก็ยังปรากฏอยู่บนเขา ไซปิลัส (Sipylus) จนตราบเท่าทุกวันนี้ นักเทพปกรณัมวิทยาเขาว่ากันว่า เรื่องนี้ก็คือ ตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์เมื่อสิ้นฤดูหนาว ซึ่งนางไนโอบีนั้นหมายถึงฤดูหนาว บุตรทั้ง 7 คือระยะ กาลแห่งความหนาว และลูกธนูของอพอลโลก็คือแสงอาทิตย์ อพอลโลถูกเนรเทศ เมื่อยังเยาว์อพอลโลเที่ยวไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ มีดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนและแคว้นเธสสะลีเป็นต้น เธอเที่ยวผูก สมัครรักใคร่หญิงทั่วไปตามวิสัยหนุ่มรุ่น ในแคว้นเธสสะลีมีสาวเจ้าคนหนึ่งงามนัก ชื่อว่า โครอนนิส (Coronis) เป็นธิดาเจ้าแห่งแคว้นนั้น อพอลโลผูกสมัครรักใคร่ได้ เสียกับนางจนเกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่นางกลับปรากฏว่าเป็นหญิงหลายใจ ในระหว่างที่นางมีครรภ์ อพอลโลให้นกดุเหว่าขนขาวปลอดตัวหนึ่งเฝ้านางไว้ เมื่อนางคบชู้ นกก็ไปบอกข่าวแก่เทพผู้เป็นนาย อพอลโลบันดาลโทสะ พลอยสาปนกซึ่ง บอกข่าวอัปมงคลให้กลับมีขนสีดำไป ดังนั้นนกดุเหว่าจึงมีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา ส่วนนางโครอนนิสถูกฆ่า ว่ากันว่าด้วยน้ำมือของเทพอพอลโลเองบ้าง ด้วยคมศรของเจ้าแม่ อาร์เตมิสบ้าง แต่บุตรในครรภ์ซึ่งจวนจะครบกำหนดคลอดนั้นรอดตาย ด้วยอพอลโล(บ้างก็ว่าเฮอร์มีส) เอาออกจากครรภ์ ตอนเผาศพนางโครอนนิส แล้วมอบให้แก่ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์ เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้เลี้ยงดู ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ไครอนนี้เป็นอาจารย์ผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มีวิชาดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น เป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณว่า เป็นผู้ สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้พืชสมุนไพรทำยา และเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆ ในเทพปกรณัมมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส และคนอื่น ๆ อีก ในตอนปลายอายุถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษ โดยความสำคัญผิดของเฮอร์คิวลีสในระหว่างที่ตามล้างเซนทอร์พวกหนึ่ง แม้เฮอร์คิวลิสจะช่วยแก้ไขให้รอดตาย และ ไครอนแม้จะเป็นหมออยู่กับตัว แต่ก็ไม่สามารถถอนพิษยาได้ พิษยาบันดาลให้ไครอนเจ็บปวดรวดร้าวนักหนา ซูสเทพบดีจึงโปรดให้กลายเป็นดาวอยู่ในกลุ่มดาวชื่อ แซชจิเตริอัส (Sagitarius) บุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับฝากไว้นั้นได้ขนานชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาดเฉลียวมีความเข้าใจแตกฉานและเป็น ที่รักของอาจารย์อย่างยิ่งวิชาที่เขาใส่ใจศึกษาที่สุดได้แก่ โรคศิลป์ เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นหมอบำบัดโรคผู้มีความสามารถยิ่ง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสในการบำบัดโรคนั้นยิ่งกว่าของอาจารย์มาก ด้วยที่สามารถบำบัดโรคและความป่วย ไข้ได้ทุกชีวิต ซึ่งไครอนเองทำไม่ได้ ในไม่ช้าชื่อ เสียงของเอสคิวเลปิอัสก็เลื่องลือไปไกล ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ได้ป่วย หนักหนาสาหัส หรือเล็กน้อย ถ้าได้รับการบำบัดจากเขาแล้วก็ทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าหายวันหายคืนเลย ทีเดียว ผู้คนพากันไปขอรับการบำบัดโรค ณ สำนักของเขา ทั้งจากใกล้และไกลทุกทิศทาง นับว่าการบำเพ็ญประโยชน์ของ เอสคิวเลปิอัสแผ่ไพศาลยิ่ง ทั้งโดยเนื้อ นาบุญและโดยระยะทาง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสเป็นที่เลื่องลือไปจนว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเขาสามารถแก้คนตายให้ฟื้นได้ อัน เป็นเหตุ ให้เทพปริณายกซูส กับเทพฮาเดส เจ้าแห่งแดนคนตายเดือดร้อน ทั้งริษยาและหวั่นเกรงในอำนาจ บารมีของ เอสคิวเลปิอัส หากปล่อยไว้นานไปเบื้องหน้าจะทำให้มนุษย์กำเริบอีก เห็นว่าจะละไว้มิได้ ซูสจึงประหาร เอสคิวเลปิอัส ด้วยอสนีบาต เทพอพอลโลบันดาลโทสะกล้าในการตายของบุตร แต่ไม่รู้จะโกรธเอากับเทพบิดาอย่างไร จึงหันไปไล่ เบี้ยเอากับช่างประกอบอสนีบาตถวายซูส คือ เทพฮีฟีสทัส กับยักษ์ไซคลอปส์ เธอน้าวคันธนูเงินมุ่งจะยิงธนู สังหารยักษ์ไซคลอปส์เสียให้สมแค้น แต่ซูสไม่ยอมให้อพอลโลทำเช่นนั้นได้ และเพื่อจะลงโทษบุตรในความ อุกอาจดังนี้ ไท้เธอจึงเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ในมนุษย์โลก และให้เป็นข้าของมนุษย์เป็นเวลา 1 ปีเสียก่อน จึงจะพ้นโทษ เรื่องของเฟอิทอน นอกจากเอสคิวเลปิอัสแล้ว อพอลโลยังมีบุตรอีกคนหนึ่ง แต่เกิดกับนางอัปสร ไคลมินี (Clymene) ชื่อเฟอิทอน (Phaeton) วันหนึ่งเฟอิทอนถูก เพื่อนเรียนหนังสือด้วยกันหัวเราะเยาะ ในการที่อ้างตนเป็นบุตรสุริยเทพ เฟอิทอนทั้งเคืองทั้งอับอายกลับมารบเร้าให้มารดาพาไปหาบิดา เพื่อให้ได้หลักฐานพิสูจน์ว่าตนเป็น บุตรเทพอพอลโลจริง นางไคลมินีจึงบอกทางให้บุตรเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนกว่าจะถึงวังที่ประทับของอพอลโล ณ ที่นั้นจะได้พบกับบิดาสมประสงค์ เฟอิทอนรีบดั้นเดินทางโดยไม่หยุดพัก จนล่วงเข้าเขตวังของบิดา แม้ภูมิทำเลบริเวณวังจะงดงามตระการเพียงใด และตำหนักที่ประทับของอพอลโลก็เรืองวิจิตรน่า พรึงเพริดสักปานใด เฟอิทอนก็หาแยแสใส่ใจไม่ ฝ่ายอพอลโลเห็นกุมารเข้าไปใกล้ก็จำได้ว่าเป็นบุตร และเมื่อเฟอิทอนขึ้นถึงบัลลังก์ที่เธอประทับอยู่เธอก็ปฏิสันถารกับ เฟอิทอนอย่างบิดากับบุตร สั่งถามถึงธุระในการที่มาเฝ้า เฟอิทอนจึงทูลแถลงถึงเรื่องราวและความที่พึงประสงค์ พอจบเทพอพอลโลก็ออกอุทานวาจาว่า อนุญาตให้เฟอิทอนได้ ข้อพิสูจน์ตามแต่จะพึงประสงค์ พร้อมทั้งสาบานยืนยันมั่นคง โดยอ้างแม่น้ำสติกส์เป็นทิพยพยานอีกด้วย การสาบานโดยการอ้างชื่อแม่น้ำสติกส์นี้ เป็นการสาบานอันเคร่งครัดที่สุด ซึ่งลงว่าเทพองค์ใดลั่นสาบานแล้ว เทพองค์นั้นจะล่วงละเมิดไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเทพผู้ ล่วงละเมิดไม่ปฏิบัติตามสาบาน จะต้องเสวยน้ำในแม่น้ำนี้ซึ่งจะทำให้ปัญญาเสื่อมเศร้าหมองเป็นเวลา 1 ปี กับจะต้องถูกขับออกจากเขาโอลิมปัสและงดเสวยน้ำอมฤตอีก 9 ปี เฟอิทอนฟังคำสาบานดังนั้น จึงขออนุญาตขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาในวันนั้น เพื่อว่าโลกทั้งมวลจะได้ตระหนักชัดว่า เธอเป็นบุตรสุริยเทพสมจริงตามที่กล่าวอ้าง ก็ แหละรถพระอาทิตย์นั้ไม่ใช่ของสำหรับใครจะขับได้ ด้วยว่าผู้ที่สามารถควบคุมม้าเทียมทั้ง 4 แสนจะพยศที่ลากรถนั้นจะมีก็แต่เทพอพอลโลองค์เดียว เมื่อเฟอิทอนขออนุญาต ขับรถแทนอพอลโลก็ถึงแก่สะดุ้งประหวั่นเกรงจะเกิดเหตุยุ่งยากและเดือดร้อนไปทั่วโลกพิภพและจักรวาล จึงบ่ายเบี่ยงบอกเฟอิทอนให้ขอพรอย่างอื่น ฝ่ายเฟอิทอนมีจิต กำเริบดื้อดึงขึ้นมาเสียแล้ว คงยืนกรานที่จะขอขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาให้จงได้ ในที่สุดสุริยเทพซึ่งลั่นสาบานอันไม่พึงล่วงละเมิดออกไปเสียแล้วสุดที่จะบ่ายเบี่ยงต่อไปอีกได้ ก็จำต้องยอมอนุญาตให้เฟอิทอนขับรถพระอาทิตย์แทนได้ดังประสงค์ กำหนดเวลาออกรถดลมาถึงพร้อมแล้ว ม้าเทียมรถก็เตรียมเผ่นโผนโจนทะยานออกอยู่แล้ว นางประจำยามเข้าเคียงข้างรถอยู่พร้อมสรรพฝ่ายอุษาเทวีก็คอย อาณัติสัญญาณสั่งจากสุริยเทพ เตรียมไขทวารเบิกม่านฟ้าอยู่ทีเดียว ฝ่ายเทพอพอลโลจัดแจงชโลมเฟอิทอนด้วยของเย็นกันถูกแสงอาทิตย์แผดเผา พลางสั่งเฟอิทอนให้ขับรถรักษาเส้นทางโคจรเดิมไว้ให้ดี อย่าให้รถออกนอกทางเป็น อันขาด เธอสั่งย้ำซ้ำซากให้บุตรกวดขันระมัดระวังม้าเทียมโดยเคร่งครัดอย่างที่สุด และให้ใช้แส้แต่โดยออมชอมเท่านั้นด้วยว่ามันเป็นม้าที่พยศมาก หนุ่มน้อยฟังบิดาสั่งเสียอย่างระอิดระอา แล้วก็โดดขึ้นนั่งรถทองรวบสายบังเ!ยน ให้สัญญาณอุษาเทวีเปิดทวารและขับรถออกจากวังสุริยเทพด้วยความกระหยิ่ม ลำพองใจ ในชั่วโมงแรก ๆ เฟอิทอนสังวรในคำสั่งเสียของบิดา แต่แล้วความกำเริบเสิบสานเข้าครอบงำ ทำให้ลืมคำสั่งของบิดาเสีย เฟอิทอนขับรถเร็วขึ้นทุกทีจนรถออกนอก ทางโคจรไป ดวงจันทร์และดาราน้อยใหญ่พากันตื่นตระหนกที่ได้เห็นรถสุริยาทิตย์แล่นเตลิดไปกลางหาว แต่ก็ไม่มีปัญญาจะทำประการใดได้ และเฟอิทอนก็ขับรถใกล้โลก พิภพเข้ามาทุกที จนเป็นเหตุให้พืชพันธ์ทั้งปวงเ!่ยวแห้งตายหมด น้ำในแม่น้ำลำธารก็เหือดแห้ง แผ่นดินไหม้เกรียมจนเกิดควันโขมง ผู้คนของแผ่นดินนั้นถูกแสงอาทิตย์ แผดเผาจนตัวดำไปหมดสิ้น เป็นสีกายที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่ครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้ และแผ่นดินที่ถูกรถสุริยาทิตย์เข้าใกล้ในครั้งนั้นก็คือ แอฟริกานั่นเอง เฟอิทอนตื่นตกใจในเหตุอันตนทำให้เป็นไปจึงลงแส้ม้าชักรถให้ถอยห่างจากโลก ม้าก็เผ่นโผนโจนทะยานเหออกห่างโลกเสียลิบลับ ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารที่เหลือ รอดจากความร้อนอยู่บ้าง กลับเ!่ยวเฉาตายลงอีกเพราะความหนาวจัดฉับพลัน ทั้งแผ่นดินแผ่นน้ำตอนนั้นก็มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วไปหมด เสียงผู้คนร้องระงมดังขึ้นทุกที จนใน ที่สุดก็ปลุกซูสเทพบดีให้ตื่นจากบรรทมเล็งทิพยเนตรสืบสวนหาสาเหตุ ครั้นได้ความว่าเหตุเกิดจากเฟอิทอนบังอาจขับรถสุริยาทิตย์เช่นนั้น ไท้เธอก็พิโรธนัก คว้าอสนีบาต ฟาดไปที่เฟอิทอน บันดาลให้เฟอิทอนสิ้นชีวิตตกจากรถสุริยาทิตย์ลงสู่แม่น้ำ อีริดานัส ในพริบตา เฟอิทอนมีพี่สาวร่วมอุทร 3 คน เมื่อเฟอิทอนถึงแก่ความตาย นางทั้ง 3 ก็ไปร่ำไห้ที่ริมฝั่งแม่น้ำจนเทพทั้งปวงสงสารเลยแปลงนางเป็นต้นอำพันหลั่งน้ำตาเป็นอำพัน ตั้งแต่บัดนั้น ฝ่ายเพื่อนเล่นคู่หูคนหนึ่งของเฟอิทอนชื่อ ซิกนัส (Cygnus) ก็ลงงมหาศพ ดำผุดดำว่ายในแม่น้ำจนกลายเป็นต้นตะผมลหงส์เล่นน้ำสืบเชื้อสายพงศ์พันธุ์มา จนตราบเท่าทุกวันนี้ ตำนานพฤกษชาติเกี่ยวกับเทพอพอลโล ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับเทพอพอลโลโดยตรงมีตำนานพฤกษชาติที่น่ารู้รวมอยู่ด้วย 2-3 เรื่อง เรื่องหนึ่งได้แก่ ตำนาน ต้นชัยพฤกษ์ ซึ่งชาวกรีกถือว่าเป็นต้นไม้คู่บารมีของสุริยเทพทีเดียว เรื่องหนึ่งคือตำนานของต้นไม้น้ำ ที่เราเรียกว่า ผักตบ กับตำนาน ต้นสนป่า และอีกเรื่องหนึ่งเป็น ตำนานต้นทานตะวัน ตำนานต้นชัยพฤกษ์นั้น อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับนาง แดฟนี (Daphne) ซึ่งเป็นนางอัปสร รูปงามธิดาของ พีนูส (Peneus) เทพประจำแม่น้ำตามเรื่องเล่าว่า อพอลโลได้พบนางในกลางป่า ให้บังเกิดความพิสมัย จึงเยื้องกราย เข้าหาหมายจะแทะโลม แต่ไม่ทันถึงนางก็วิ่งหนีไปเสียแล้ว ฝ่าย อพอลโลอารามที่ลืมไม่ว่า อะไรอื่นทั้งสิ้นจึงวิ่งตาม วิ่งพลางร้องเรียกให้นางแดฟนีหยุดแม้ชั่วขณะหนึ่ง เท่านั้นก็ตามที เธอสัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายเลย นางอัปสรไม่ยอมฟังคำสัญญาหรือวิงวอน ตั้งหน้าแต่รุดหนีอย่างเดียว ฝ่ายอพอลโลก็วิ่งกวด ตามไปโดยไม่ลดละ จนนางแดฟนีเริ่มอ่อนกำลังและตระหนักว่า ฝ่ายไล่กำลังรุกกระชั้นเข้าไปทุกที นางจึงวิ่งหนีกระหืดกระหอบอกสั่นลงยังริมฝั่งแม่น้ำของบิดา ขอให้แปลงร่างนางเสีย หรือบันดาลให้ นางจมลงไปในปฐพี ยังมิทันที่นางจะถึงริมฝั่งน้ำดี นางก็รู้สึกเหมือนหนึ่งตัวเองถูกตรึงติดกับพื้น ด้วย เท้าหยั่งลงในดินเป็นราก ผมและมือก็งอกออกเป็นใบ ส่วนเครื่องคลุมกายกลายเป็นเปลือกไม้ ปกคลุมร่างอันสั่นเทาของนางไป บิดาของนางตอบสนองการที่นางร้องให้ช่วยแล้ว โดยเปลี่ยนนางเป็น ต้นชัยพฤกษ์อยู่ ณ ที่นั้น ฝ่ายอพอลโลตามมาทันไม่เห็นนาง เห็นแต่ต้นไม้ ครั้งแรกเธอไม่รู้สึกเลยว่า สาวเจ้าลับจาก เธอไปแล้ว โดยไม่มีวันจะได้พบอีก แต่เมื่อความจริงเป็นที่ปรากฏดังนั้น เธอจึงมีเทพบรรหารว่า นับ แต่บัดนี้ต้นชัยพฤกษ์ จงเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของเธอ อันคนหลายคนพึงเด็ดช่อใบร้อยพวงมาลา เป็นรางวัลแก่กวีและนักดนตรีสืบไป เรื่องอพอลโลกับนางแดฟนีนี้ นอกจากจะแสดงตำนานของต้นชัยพฤกษ์แล้ว ยังเป็นนิทาน อุปมาถึงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่เกิดเป็นประจำวันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ (อพอลโล) และน้ำค้าง (แดฟนี) อีกโสดหนึ่งด้วย กล่าวคือยามดวงอาทิตย์ทอแสงลงมาเยี่ยมโลกเมื่อรุ่งอรุณ น้ำค้างที่ยังเหลือ อยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า และตามพื้นดินก็หายไปดุจดังนางแดฟนีหนีลับจากอพอลโล ตามท้องเรื่องที่เล่า มาแล้วฉะนั้ ต่อไปนี้จะเล่าตำนานผักตบและต้นสนป่า ตามท้องเรื่องที่เล่าสืบ ๆ มา ในเทพปกรณัมของกรีกว่า อพอลโล มีมนุษย์เป็นเพื่อนที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่งคนหนึ่งชื่อว่า ไฮยาซินทัส (Hyacinthus) และมานพนี้ก็เป็นเพื่อนกับ เสฟไฟรัส (Zephyrus) เทพ ประจำลมตะวันตกด้วย เสฟไฟรัสมีความริษยาสุริยเทพ และเคืองแค้นไฮยาซินทัส ในการที่สนิทสุริยเทพยิ่งกว่าตน วันหนึ่งอพอลโลกับไฮยาซินทัสเล่นทอยห่วงเหล็กกัน เสฟไฟรัสผ่านมาพบเข้า จึงคิดแกล้งให้อพอลโลโทมนัสโดยทำให้ไฮยาซินทัสตายเสีย เสฟไฟรัสก็แกล้งเป่าเหล็กของอพอลโลโดยแรงให้ถูกคู่เล่นล้มลง ฝ่ายอพอลโลเห็นเหตุ นั้นจึงกระทำปฐมพยาบาลห้ามเลือดซึ่งไหลออกจากแผลไฮยาซินทัส แต่เลือดก็หาหยุดไหลไม่ ไฮยาซินทัสทนพิษบาดแผลไม่ได้ จึงสิ้นใจลงในขณะนั้นเอง อพอลโลโทมนัสในการตายของปิยมิตรยิ่งนัก และเพื่อให้เป็นเครื่องระลึกถึงปิยมิตรผู้ตายเธอจึงบันดาลให้เลือดของไฮยาซินทัสที่ตกกองอยู่นั้นเป็นกอดอกไม้ เรียกว่า ไฮยาซิน (ผักตบ) ตามชื่อเจ้าของเลือดตั้งแต่นั้นมา ภายหลังมรณะกรรมของไฮยาซินทัส อพอลโลหันไปคบมนุษย์เป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งเพื่อให้หายโศก มานพนี้เป็นพรานหนุ่มที่เฉลียวฉลาด มีชื่อว่า ไซพาริสสัส (Cyparissus) แต่รายนี้ก็อีก เป็นมิตรภาพที่มีอันต้องสิ้นสุดลงด้วยความเศร้าโศก เป็นข้อยืนยันว่า อพอลโลมีความอาภัพในมิตรภาพ กล่าวคือ ไซพาริสสัส บังเอิญฆ่า ลูกกวางที่อพอลโลเลี้ยงไว้ ให้เสียใจนัก ไม่เป็นอันกินอันนอนจนซูบผอมลงไปทุกที และในที่สุดก็ตายด้วยความตรอมใจ อพอลโลจึงประสาทให้ร่างอันปราศจากชีวิตของ ไซพาริสสัสกลายเป็นต้นสนป่า และบรรหารว่าสืบแต่นั้นให้ต้นสนป่าจงเป็นต้นไม้สำหรับความร่มรื่นให้เกิดแก่หลุมศพของคนผู้เป็นที่รักของญาติมิตรต่อไป หน้าที่สำคัญที่อพอลโลปฏิบัติอยู่เป็นประจำวันนั้นได้แก่ การขับรถพระอาทิตย์ ขึ้นจากฟากมหาสมุทรเมื่อรุ่งอรุณโคจรไปตามสุริยวิถี ผ่านฟากฟ้าโดยไม่หยุดพักเลย จนถึงเรือทองที่จะจอดคอยเธอในทิศตะวันตก เมื่อสิ้นวันแล้วอพอลโลจึงลงเรือกลับคืนตำหนักสู่วังที่ประทับในทิศตะวันออก รอวันใหม่วนเวียนอยู่ดังนี้ทุกวันเป็นเนืองนิตย์ ยังมีนางอัปสรประจำน่านน้ำ ธิดาของโอเชียนัสกับนางเทวีทีธิสชื่อว่า ไคลที (Clytie) นางหลงใหลใฝ่ฝันในเทพอพอลโลอยู่ คอยเฝ้าดูการโคจรประจำวันของสุริย เทพทุกวัน แต่อพอลโลจะไยดีกับนางก็หาไม่ ถึงกระนั้นนางก็เฝ้าดูเธอทุกวัน นับตั้งแต่วาระเมื่อเธอทรงรถออกจากวังยามเช้าไปจนกระทั่งเธอโคจรถึงทะเลฟากตะวันตก โดย ผินหน้าตามไปมิให้อพอลโลคลาดจากสายตา หวังว่าสักวันหนึ่งอพอลโลคงจะบังเกิดความปฏิพัทธ์เสน่หานางบ้าง นางไคลทีสู้ทนเฝ้าคอยอยู่ดังนั้นเป็นเวลานานไม่ยอมละสาย ตาจากอพอลโลไปมองดูอื่น ในที่สุดเทพทั้งปวงมีความสงสาร จึงเปลี่ยนนางเป็นต้นทานตะวันชูดอกผินตามดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ บริวารของอพอลโล อพอลโลมีบริวารที่ควรกล่าวถึงอยู่เหล่าหนึ่ง ได้แก่ คณะศิลปวิทยาเทวี ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Muses เป็นเทวีประจำศิลปวิทยาการต่าง ๆ เกิดแต่ซูสเทพบดีกับนางนีโมซินี (Mnemosyne เทวีครองความจำ) มี 9 องค์ มีชื่อและวิชาการเกี่ยวข้องดังนี้ - ไคลโอ (Clio) ประจำประวัติศาสตร์ - ยูเรเนีย (Urania) ดาราศาสตร์ - เมลโพมีนี (Melpomene) เรื่องโศก(tragedy) - ธะไลอะ (Thalia) เรื่องสรวล (comedy) - เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) การฟ้อนรำ - คัลลิโอพี (Colliope) บทกวีเรื่อง - เออระโต (Erato) บทกวีรัก - ยูเทอร์พี (Euterpe) บทกวีร้อง - โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) บทกวีร่ายอาศิรพจน์ ...แต่บริวารที่ใกล้ชิดเธอที่สุด คือ อีออส (Eos) หรือ ออโรรา (Aurora) เป็นเทวีครองแสงเงินแสงทอง หรืออุษาเทวี ทำหน้าที่เปิดทวารมุกดา ยามอรุณรุ่งให้รถอพอลโลออก โคจร และพร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทอง เป็นสัญญาณเบิกทางโคจรของอพอลโลขึ้นด้วย เทพอพอลโล Apollo ...อพลโล (Apollo) เทพคู่แฝดผู้น้องของเทวีอาร์เตมิส คือเทพครองดวงอาทิตย์ ซึ่งภายหลังชาวกรีกและโรมันถือว่า เป็นดวงอาทิตย์ทีเดียว เหมือนอย่างที่ถืออาร์เตมิสเป็นดวงจันทร์ฉันนั้น ในชั้นดั้งเดิมสุริยเทพของกรีกคือ ฮีลิออส(Helios) ซึ่งเป็นบุตรของโอเพอร์เรียน (Hyperion) ในคณะเทพไทแทน แต่เมื่อคณะเทพไทแทนสิ้นอำนาจ ชาวกรีกจึงนับถือเทพ อพอลโลแทนสืบต่อมา เมื่อนาง แลโตนา มารดาของอพอลโล ถูกกระทำด้วยความหึงของเจ้า แม่ฮีรา เพราะเหตุเป็นที่ปฏิพัทธ์เสน่หาของ ซูส ต้องอุ้มครรภ์ หนีงู ไพธอน (Python) ของเจ้าแม่ ซอกซอนไปไม่มีที่จะให้ประสูติบุตรในครรภ์ได้จน ถึงเกาะดีลอส (Delos) เทพโปเซดอน มี ความสงสารบันดาลให้เกาะน้อยผุดขึ้นในทะเล นางจึงให้ประสูติอพอลโลกับอาร์เตมิส บนเกาะ นั้น ในทันทีที่ประสูติจากครรภ์มารดา อพอลโลก็จับงูไพธอนฆ่าเสีย ด้วยเหตุนี้ บางทีอพอลโลก็เป็นที่เรียก ขานว่า ไพธูส (Pytheus) แปลว่า "ผู้ประหารไพธอน" นอกจากนี้อพอลโลยังมีชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ มีชื่อตาม สถานที่เกิดว่า ดีเลียน (Felian) ฟีบัส (Phoebus) แปลว่า "โอภาส" หรือ "ส่องแสง" เป็นอาทิ ชื่อหลังนี้มัก ใช้บวกกับชื่อประจำว่า ฟีบัส อพอลโล เนือง ๆ เมื่อให้ประสูติบุตรแล้ว นางแลโตนาก็ยังไม่พ้นการรังควานของเจ้าแม่ฮีรา ต้องดั้นด้นเซซังต่อไปจนถึงแคว้น เคเรีย (Caria) ซึ่งอยู่ ในเอเซียไมเนอร์ปัจจุบันนี้ นางจำเป็นต้องหยุดพัก ณ ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งด้วยโรยกำลัง และขอดื่มน้ำจาก พวกชาวบ้าน ที่ออกมาถอนหญ้า คาอยู่ในบริเวณนั้น พวกชาวบ้านแทนที่จะสมเพชสงสารกลับ ไล่ตะเพิดและด่าทอนางด้วยคำ หยาบช้า ทำให้ซูสเทพบดีกริ้วจัดนัก ถึงแก่ สาปชาวบ้านเหล่านั้นให้กลายเป็นกบไปทั้งหมด ตำนานเรื่องนี้เห็นจะแสดงว่าใน ละแวกนั้นมีกบ ชุม และกบปัจจุบันอาจสืบเชื้อสายจากชาว บ้านที่ถูกสาปเหล่านั้นก็เป็นได้ อพอลโลเป็นเทพที่ชาวกรีกถือว่ามีรูปงามยิ่ง และเป็นนักดนตรีผู้ขับกล่อมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ด้วยพิณถือของเธอ นอกจากนี้เธอยังมีคันธนูซึ่งยิงได้ไกล จึงได้สมญานามว่า เทพขมังธนู ใช่แต่เท่านั้นเมื่อไร เธอยังเป็นเทพผู้ถ่ายวิชาโรคศิลป์ ให้แก่มนุษย์เป็นปฐม เป็นเทพแห่งแสงสว่างผู้ขจัดความมืดและเป็นเทพแห่ง สัจธรรมผู้ไม่เคยเอ่ยวาจาเท็จอีกด้วย วิหารของเทพอพอลโลนั้น มีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในประเทศแต่ที่สำคัญที่สุดได้แก่วิหาร ณ เมืองเดลฟี ใกล้ทิวเขาพาร์นาซัส รูปอนุสาวรีย์ โคลอสซัส (Colosus) ที่เขาสร้างอุทิศแด่เธอ ณ เกาะ โรดส์ (Rhodes) นั้นเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งอัศจรรย์ทั้ง 7 ของโลกสมัยโบราณทีเดียว เทพอพอลโลได้สำแดงวีรกรรมสังหารผลาญชีวิตคนพาลมากมาย นอกจากเคยฆ่างู ยักษ์ไพธอนจนมีชื่อ เสียงมหาศาลแล้ว ยังสามารถสังหารยักษ์ อโลอาดี (Aloadae) และ อีฟิอัลทิส(Ephialtes) ซึ่งเป็นเชื้อสายของ วงศ์ไทแทนคิดล้มซูสเทพบดีเพื่อฟื้นวงศ์ไทแทนคืนมา เป็นต้น แต่มีครั้งหนึ่งที่อพอลโลยังไม่อาจเอาชนะมนุษย์ คนหนึ่งได้จนร้อนถึงไท้เทพซูสต้องออกมาประนีประนอม บุรุษเดินดินคนนั้นนามว่า เฮอร์คิวลิส หรือ เฮลาคลิสนั่นเอง เหตุเกิดเพราะเฮอร์คิวลิสไปขอคำพยากรณ์ที่วิหารเดลฟีแล้ว ได้รับคำทำนายไม่ถูกใจ จึงล้มโต๊ะ พิธีใน วิหารแล้วฉวยเอากระถางธูปไป เทพอพอลโลรีบรุดตามไปท้าเล่นมวยปล้ำเพื่อชิงเอากระถางคืน ปล้ำกันอยู่ นานไม่อาจรู้แพ้ชนะ ชะรอยซูสเห็น ท่าว่าขืนปล่อยไว้นานอพอลโลอาจจะเสียเปรียบพ่ายแพ้แก่มนุษย์เข้าได้ และ อาจเสียหน้าวงศ์เทพแน่ จึงเสด็จลงไปห้ามปรามให้เลิกราต่อกัน ขอให้เฮอร์คิวลิสคืนกระถางธูปแก่อพอลโล แล้วให้ เลิกราเรื่องบาดหมางต่อกัน เรื่องราวก็เลยจบลงด้วยดี เทพอพอลโลมีอุปนิสัยไม่ยอมแพ้ใครอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากที่ไปแข่งเป่าขลุ่ยกับมาไซยาส์ซึ่งเป็นเทพชั้นรอง แล้วตั้งกรรมการตัดสินว่าผู้ใดเป่าเก่งกว่ากัน พระเจ้าไมดาส (Midas องค์ที่จับอะไรก็กลายเป็นทอง) เกิดตัดสินเข้าข้างมาไซยาส์ เพียงเท่านี้ อพอลโลก็ไม่ฟังอะไรอีก จึงสาปให้ไมดาสมีหูเป็นลาไปทันที ตามเรื่องต่าง ๆ ที่เธอมีบทบาทอยู่ อพอลโลดูจะเป็นเทพใจสูงกว่าองค์อื่น ๆ แต่ถึงกระนั้นก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ที่แสดงให้เห็นความโหดเ!้ยมดุร้ายของเธอดังเราจะเห็น จากเรื่องต่อไปนี้ การลงโทษนางไนโอบี เทพอพอลโลกับเทวีอาร์เตมิสเป็นที่สวาสดิ์ภาคภูมิใจของมารดายิ่งนัก นางถึงแก่โอ้อวดคุยฟุ้งเฟื่องไปไกลว่าจะหาบุตรใครเสมอบุตรของนางเห็นจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าจะเปรียบกันในเชิงสิริรูป สติปัญญา หรือพลังอำนาจ ก็ต้องแพ้บุตรของนางหลุดลุ่ย ความนี้เลื่องลือไปถึงนาง ไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นธิดาของท้าว แทนทะลัส (Tantalus) และมเหสีเจ้ากรุง ธีบส์ (Thebes) นางไนโอบีกลับหัวเราะเยาะและค่อนว่า นางแลโตยามีลูกจะอวดกับเขาแต่เพียง 2 เท่านี้หรือ ส่วนนางเองสิมีถึง 14 เป็นชาย 7 ล้วนแต่มีรูปกำยำงามสง่า และเป็นหญิงล้วนแต่ทรงโฉมวิลาสวิไลถึง 7 นางไนโอบีลั่นวาจาก้าวร้าวสบประมาทนางแลโตนาอีกเป็นอันมาก ซ้ำยังกำเริบเสิบสานถึงแก่ห้ามชาวเมือง ของนางกระทำบูชาเทพอพอลโลและเทวีอาร์เตมิส แถมบังอาจสั่งให้ทำลายรูปเคารพเทพและเทวีคู่นี้จากแท่นที่บูชา ในอาณาจักรของนางอีกด้วย นางแลโตนาโกรธแค้นหนักหนาในการที่ถูกหยามหยาบถึงเพียงนี้ จึงเรียกบุตรและ ธิดาเคียงข้าง และสั่งให้ออกตามฆ่าบุตรและธิดาของนางไนโอบีเสียให้สิ้น เทพบุตรเทพธิดาคู่แฝดอยู่ในอารมณ์ขึ้งเคียดเต็มที่ จึงขมีขมันออกไปตามคำสั่งทันที อพอลโลพบมานพทั้ง 7 ออกล่า! จึงประหารเสียด้วยลูกธนูตายหมดทั้ง 7 คน เมื่อข่าวการตายของบุตรรู้ไปถึงนางไนโอบี นางก็โศกเศร้า โทมนัสนัก ฝ่ายเจ้ากรุงธีบส์สวามีก็ทำลายตัวเองสิ้นไปด้วยอีกคนหนึ่ง ยังเหลือธิดาทั้ง 7 ยังไม่ทันที่มารดาจะวายโศก ก็ถูกเทวีอาร์เตมิสจองประหารอีก มิใยสาวผู้ถึงฆาตทั้ง 7 จะพยายามหนีให้พ้นลูกธนูของเจ้าแม่แห่งนายพรานอย่างไร ๆ ก็ไม่สำเร็จ แม้นาง ไนโอบีจะพยายามปกป้องลูก และอ้อนวอนขอความอารักขาคุ้มครองจากทวยเทพบนเขาโอลิมปัสสักเท่าใดก็ไม่เป็น ผล ธิดาของนางต้องศรล้มกลิ้งตายกันระเนระนาด ที่สุดจนนางที่ซุกอยู่ระหว่างอุระของมารดา เทวีอาร์เตมิสผู้อาฆาตก็ไม่ละเว้น ลูกธนูของเจ้าแม่แล่นเข้าเป้าเสียบนางนั้น ให้วายชีวิตไปแทบอุระของมารดาจนได้ นางไนโอบีสูญสิ้นทั้งสามีและบุตรธิดาที่มาดหมายเหลือแต่นางเดียวดายถึงไม่ตายก็เหมือนตาย ความเศร้ารันทดหนุนเนื่องประดังขึ้นมาแน่นอุระ นางก็แข็งชาไปทั้ง ร่างกาย มิอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ อนิจจา! ร่างของนางกลายเป็นหินตื้อตันไปหมด คงอยู่แต่หยาดน้ำตารินไม่สิ้นสุด แต่วันนั้นมาจนวันนี้ น้ำตานางจะหยุดไหลก็หา ไม่ ส่วนรูปหินของนางไนโอบีก็ยังปรากฏอยู่บนเขา ไซปิลัส (Sipylus) จนตราบเท่าทุกวันนี้ นักเทพปกรณัมวิทยาเขาว่ากันว่า เรื่องนี้ก็คือ ตำนานเปรียบเทียบถึงอำนาจของแสงอาทิตย์เมื่อสิ้นฤดูหนาว ซึ่งนางไนโอบีนั้นหมายถึงฤดูหนาว บุตรทั้ง 7 คือระยะ กาลแห่งความหนาว และลูกธนูของอพอลโลก็คือแสงอาทิตย์ อพอลโลถูกเนรเทศ เมื่อยังเยาว์อพอลโลเที่ยวไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ทางทิศเหนือของประเทศกรีซ มีดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนและแคว้นเธสสะลีเป็นต้น เธอเที่ยวผูก สมัครรักใคร่หญิงทั่วไปตามวิสัยหนุ่มรุ่น ในแคว้นเธสสะลีมีสาวเจ้าคนหนึ่งงามนัก ชื่อว่า โครอนนิส (Coronis) เป็นธิดาเจ้าแห่งแคว้นนั้น อพอลโลผูกสมัครรักใคร่ได้ เสียกับนางจนเกิดบุตรด้วยกันคนหนึ่ง แต่นางกลับปรากฏว่าเป็นหญิงหลายใจ ในระหว่างที่นางมีครรภ์ อพอลโลให้นกดุเหว่าขนขาวปลอดตัวหนึ่งเฝ้านางไว้ เมื่อนางคบชู้ นกก็ไปบอกข่าวแก่เทพผู้เป็นนาย อพอลโลบันดาลโทสะ พลอยสาปนกซึ่ง บอกข่าวอัปมงคลให้กลับมีขนสีดำไป ดังนั้นนกดุเหว่าจึงมีขนสีดำตั้งแต่นั้นมา ส่วนนางโครอนนิสถูกฆ่า ว่ากันว่าด้วยน้ำมือของเทพอพอลโลเองบ้าง ด้วยคมศรของเจ้าแม่ อาร์เตมิสบ้าง แต่บุตรในครรภ์ซึ่งจวนจะครบกำหนดคลอดนั้นรอดตาย ด้วยอพอลโล(บ้างก็ว่าเฮอร์มีส) เอาออกจากครรภ์ ตอนเผาศพนางโครอนนิส แล้วมอบให้แก่ ไครอน (Chiron) ผู้มีชาติเป็นอมนุษย์ เซนทอร์ (Centaur) เป็นผู้เลี้ยงดู ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ ไครอนนี้เป็นอาจารย์ผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในวิชาการต่าง ๆ มีวิชาดนตรี เภสัชกรรมวิทยา และวิชาธนูศิลป์ เป็นต้น เป็นที่นับถือของชาวกรีกโบราณว่า เป็นผู้ สอนมนุษย์ให้รู้จักใช้พืชสมุนไพรทำยา และเป็นอาจารย์ของวีรบุรุษคนสำคัญ ๆ ในเทพปกรณัมมากมาย เช่น อคิลีส, เฮอร์คิวลีส, เยสัน, พีลูส, อีเนียส และคนอื่น ๆ อีก ในตอนปลายอายุถูกเฮอร์คิวลีสยิงด้วยธนูอาบยาพิษ โดยความสำคัญผิดของเฮอร์คิวลีสในระหว่างที่ตามล้างเซนทอร์พวกหนึ่ง แม้เฮอร์คิวลิสจะช่วยแก้ไขให้รอดตาย และ ไครอนแม้จะเป็นหมออยู่กับตัว แต่ก็ไม่สามารถถอนพิษยาได้ พิษยาบันดาลให้ไครอนเจ็บปวดรวดร้าวนักหนา ซูสเทพบดีจึงโปรดให้กลายเป็นดาวอยู่ในกลุ่มดาวชื่อ แซชจิเตริอัส (Sagitarius) บุตรของเทพอพอลโล ที่อาจารย์ไครอนรับฝากไว้นั้นได้ขนานชื่อว่า เอสคิวเลปิอัส (Aesculapius) เป็นเด็กฉลาดเฉลียวมีความเข้าใจแตกฉานและเป็น ที่รักของอาจารย์อย่างยิ่งวิชาที่เขาใส่ใจศึกษาที่สุดได้แก่ โรคศิลป์ เพราะฉะนั้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขี้น เขาจึงกลายเป็นหมอบำบัดโรคผู้มีความสามารถยิ่ง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสในการบำบัดโรคนั้นยิ่งกว่าของอาจารย์มาก ด้วยที่สามารถบำบัดโรคและความป่วย ไข้ได้ทุกชีวิต ซึ่งไครอนเองทำไม่ได้ ในไม่ช้าชื่อ เสียงของเอสคิวเลปิอัสก็เลื่องลือไปไกล ไม่ว่าใครจะเจ็บไข้ได้ป่วย หนักหนาสาหัส หรือเล็กน้อย ถ้าได้รับการบำบัดจากเขาแล้วก็ทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าหายวันหายคืนเลย ทีเดียว ผู้คนพากันไปขอรับการบำบัดโรค ณ สำนักของเขา ทั้งจากใกล้และไกลทุกทิศทาง นับว่าการบำเพ็ญประโยชน์ของ เอสคิวเลปิอัสแผ่ไพศาลยิ่ง ทั้งโดยเนื้อ นาบุญและโดยระยะทาง ความสามารถของเอสคิวเลปิอัสเป็นที่เลื่องลือไปจนว่ากันว่า ครั้งหนึ่งเขาสามารถแก้คนตายให้ฟื้นได้ อัน เป็นเหตุ ให้เทพปริณายกซูส กับเทพฮาเดส เจ้าแห่งแดนคนตายเดือดร้อน ทั้งริษยาและหวั่นเกรงในอำนาจ บารมีของ เอสคิวเลปิอัส หากปล่อยไว้นานไปเบื้องหน้าจะทำให้มนุษย์กำเริบอีก เห็นว่าจะละไว้มิได้ ซูสจึงประหาร เอสคิวเลปิอัส ด้วยอสนีบาต เทพอพอลโลบันดาลโทสะกล้าในการตายของบุตร แต่ไม่รู้จะโกรธเอากับเทพบิดาอย่างไร จึงหันไปไล่ เบี้ยเอากับช่างประกอบอสนีบาตถวายซูส คือ เทพฮีฟีสทัส กับยักษ์ไซคลอปส์ เธอน้าวคันธนูเงินมุ่งจะยิงธนู สังหารยักษ์ไซคลอปส์เสียให้สมแค้น แต่ซูสไม่ยอมให้อพอลโลทำเช่นนั้นได้ และเพื่อจะลงโทษบุตรในความ อุกอาจดังนี้ ไท้เธอจึงเนรเทศอพอลโลให้ลงมาอยู่ในมนุษย์โลก และให้เป็นข้าของมนุษย์เป็นเวลา 1 ปีเสียก่อน จึงจะพ้นโทษ เรื่องของเฟอิทอน นอกจากเอสคิวเลปิอัสแล้ว อพอลโลยังมีบุตรอีกคนหนึ่ง แต่เกิดกับนางอัปสร ไคลมินี (Clymene) ชื่อเฟอิทอน (Phaeton) วันหนึ่งเฟอิทอนถูก เพื่อนเรียนหนังสือด้วยกันหัวเราะเยาะ ในการที่อ้างตนเป็นบุตรสุริยเทพ เฟอิทอนทั้งเคืองทั้งอับอายกลับมารบเร้าให้มารดาพาไปหาบิดา เพื่อให้ได้หลักฐานพิสูจน์ว่าตนเป็น บุตรเทพอพอลโลจริง นางไคลมินีจึงบอกทางให้บุตรเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนกว่าจะถึงวังที่ประทับของอพอลโล ณ ที่นั้นจะได้พบกับบิดาสมประสงค์ เฟอิทอนรีบดั้นเดินทางโดยไม่หยุดพัก จนล่วงเข้าเขตวังของบิดา แม้ภูมิทำเลบริเวณวังจะงดงามตระการเพียงใด และตำหนักที่ประทับของอพอลโลก็เรืองวิจิตรน่า พรึงเพริดสักปานใด เฟอิทอนก็หาแยแสใส่ใจไม่ ฝ่ายอพอลโลเห็นกุมารเข้าไปใกล้ก็จำได้ว่าเป็นบุตร และเมื่อเฟอิทอนขึ้นถึงบัลลังก์ที่เธอประทับอยู่เธอก็ปฏิสันถารกับ เฟอิทอนอย่างบิดากับบุตร สั่งถามถึงธุระในการที่มาเฝ้า เฟอิทอนจึงทูลแถลงถึงเรื่องราวและความที่พึงประสงค์ พอจบเทพอพอลโลก็ออกอุทานวาจาว่า อนุญาตให้เฟอิทอนได้ ข้อพิสูจน์ตามแต่จะพึงประสงค์ พร้อมทั้งสาบานยืนยันมั่นคง โดยอ้างแม่น้ำสติกส์เป็นทิพยพยานอีกด้วย การสาบานโดยการอ้างชื่อแม่น้ำสติกส์นี้ เป็นการสาบานอันเคร่งครัดที่สุด ซึ่งลงว่าเทพองค์ใดลั่นสาบานแล้ว เทพองค์นั้นจะล่วงละเมิดไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าเทพผู้ ล่วงละเมิดไม่ปฏิบัติตามสาบาน จะต้องเสวยน้ำในแม่น้ำนี้ซึ่งจะทำให้ปัญญาเสื่อมเศร้าหมองเป็นเวลา 1 ปี กับจะต้องถูกขับออกจากเขาโอลิมปัสและงดเสวยน้ำอมฤตอีก 9 ปี เฟอิทอนฟังคำสาบานดังนั้น จึงขออนุญาตขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาในวันนั้น เพื่อว่าโลกทั้งมวลจะได้ตระหนักชัดว่า เธอเป็นบุตรสุริยเทพสมจริงตามที่กล่าวอ้าง ก็ แหละรถพระอาทิตย์นั้ไม่ใช่ของสำหรับใครจะขับได้ ด้วยว่าผู้ที่สามารถควบคุมม้าเทียมทั้ง 4 แสนจะพยศที่ลากรถนั้นจะมีก็แต่เทพอพอลโลองค์เดียว เมื่อเฟอิทอนขออนุญาต ขับรถแทนอพอลโลก็ถึงแก่สะดุ้งประหวั่นเกรงจะเกิดเหตุยุ่งยากและเดือดร้อนไปทั่วโลกพิภพและจักรวาล จึงบ่ายเบี่ยงบอกเฟอิทอนให้ขอพรอย่างอื่น ฝ่ายเฟอิทอนมีจิต กำเริบดื้อดึงขึ้นมาเสียแล้ว คงยืนกรานที่จะขอขับรถพระอาทิตย์แทนบิดาให้จงได้ ในที่สุดสุริยเทพซึ่งลั่นสาบานอันไม่พึงล่วงละเมิดออกไปเสียแล้วสุดที่จะบ่ายเบี่ยงต่อไปอีกได้ ก็จำต้องยอมอนุญาตให้เฟอิทอนขับรถพระอาทิตย์แทนได้ดังประสงค์ กำหนดเวลาออกรถดลมาถึงพร้อมแล้ว ม้าเทียมรถก็เตรียมเผ่นโผนโจนทะยานออกอยู่แล้ว นางประจำยามเข้าเคียงข้างรถอยู่พร้อมสรรพฝ่ายอุษาเทวีก็คอย อาณัติสัญญาณสั่งจากสุริยเทพ เตรียมไขทวารเบิกม่านฟ้าอยู่ทีเดียว ฝ่ายเทพอพอลโลจัดแจงชโลมเฟอิทอนด้วยของเย็นกันถูกแสงอาทิตย์แผดเผา พลางสั่งเฟอิทอนให้ขับรถรักษาเส้นทางโคจรเดิมไว้ให้ดี อย่าให้รถออกนอกทางเป็น อันขาด เธอสั่งย้ำซ้ำซากให้บุตรกวดขันระมัดระวังม้าเทียมโดยเคร่งครัดอย่างที่สุด และให้ใช้แส้แต่โดยออมชอมเท่านั้นด้วยว่ามันเป็นม้าที่พยศมาก หนุ่มน้อยฟังบิดาสั่งเสียอย่างระอิดระอา แล้วก็โดดขึ้นนั่งรถทองรวบสายบังเ!ยน ให้สัญญาณอุษาเทวีเปิดทวารและขับรถออกจากวังสุริยเทพด้วยความกระหยิ่ม ลำพองใจ ในชั่วโมงแรก ๆ เฟอิทอนสังวรในคำสั่งเสียของบิดา แต่แล้วความกำเริบเสิบสานเข้าครอบงำ ทำให้ลืมคำสั่งของบิดาเสีย เฟอิทอนขับรถเร็วขึ้นทุกทีจนรถออกนอก ทางโคจรไป ดวงจันทร์และดาราน้อยใหญ่พากันตื่นตระหนกที่ได้เห็นรถสุริยาทิตย์แล่นเตลิดไปกลางหาว แต่ก็ไม่มีปัญญาจะทำประการใดได้ และเฟอิทอนก็ขับรถใกล้โลก พิภพเข้ามาทุกที จนเป็นเหตุให้พืชพันธ์ทั้งปวงเ!่ยวแห้งตายหมด น้ำในแม่น้ำลำธารก็เหือดแห้ง แผ่นดินไหม้เกรียมจนเกิดควันโขมง ผู้คนของแผ่นดินนั้นถูกแสงอาทิตย์ แผดเผาจนตัวดำไปหมดสิ้น เป็นสีกายที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาแต่ครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้ และแผ่นดินที่ถูกรถสุริยาทิตย์เข้าใกล้ในครั้งนั้นก็คือ แอฟริกานั่นเอง เฟอิทอนตื่นตกใจในเหตุอันตนทำให้เป็นไปจึงลงแส้ม้าชักรถให้ถอยห่างจากโลก ม้าก็เผ่นโผนโจนทะยานเหออกห่างโลกเสียลิบลับ ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารที่เหลือ รอดจากความร้อนอยู่บ้าง กลับเ!่ยวเฉาตายลงอีกเพราะความหนาวจัดฉับพลัน ทั้งแผ่นดินแผ่นน้ำตอนนั้นก็มีน้ำแข็งปกคลุมทั่วไปหมด เสียงผู้คนร้องระงมดังขึ้นทุกที จนใน ที่สุดก็ปลุกซูสเทพบดีให้ตื่นจากบรรทมเล็งทิพยเนตรสืบสวนหาสาเหตุ ครั้นได้ความว่าเหตุเกิดจากเฟอิทอนบังอาจขับรถสุริยาทิตย์เช่นนั้น ไท้เธอก็พิโรธนัก คว้าอสนีบาต ฟาดไปที่เฟอิทอน บันดาลให้เฟอิทอนสิ้นชีวิตตกจากรถสุริยาทิตย์ลงสู่แม่น้ำ อีริดานัส ในพริบตา เฟอิทอนมีพี่สาวร่วมอุทร 3 คน เมื่อเฟอิทอนถึงแก่ความตาย นางทั้ง 3 ก็ไปร่ำไห้ที่ริมฝั่งแม่น้ำจนเทพทั้งปวงสงสารเลยแปลงนางเป็นต้นอำพันหลั่งน้ำตาเป็นอำพัน ตั้งแต่บัดนั้น ฝ่ายเพื่อนเล่นคู่หูคนหนึ่งของเฟอิทอนชื่อ ซิกนัส (Cygnus) ก็ลงงมหาศพ ดำผุดดำว่ายในแม่น้ำจนกลายเป็นต้นตะผมลหงส์เล่นน้ำสืบเชื้อสายพงศ์พันธุ์มา จนตราบเท่าทุกวันนี้ ตำนานพฤกษชาติเกี่ยวกับเทพอพอลโล ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับเทพอพอลโลโดยตรงมีตำนานพฤกษชาติที่น่ารู้รวมอยู่ด้วย 2-3 เรื่อง เรื่องหนึ่งได้แก่ ตำนาน ต้นชัยพฤกษ์ ซึ่งชาวกรีกถือว่าเป็นต้นไม้คู่บารมีของสุริยเทพทีเดียว เรื่องหนึ่งคือตำนานของต้นไม้น้ำ ที่เราเรียกว่า ผักตบ กับตำนาน ต้นสนป่า และอีกเรื่องหนึ่งเป็น ตำนานต้นทานตะวัน ตำนานต้นชัยพฤกษ์นั้น อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับนาง แดฟนี (Daphne) ซึ่งเป็นนางอัปสร รูปงามธิดาของ พีนูส (Peneus) เทพประจำแม่น้ำตามเรื่องเล่าว่า อพอลโลได้พบนางในกลางป่า ให้บังเกิดความพิสมัย จึงเยื้องกราย เข้าหาหมายจะแทะโลม แต่ไม่ทันถึงนางก็วิ่งหนีไปเสียแล้ว ฝ่าย อพอลโลอารามที่ลืมไม่ว่า อะไรอื่นทั้งสิ้นจึงวิ่งตาม วิ่งพลางร้องเรียกให้นางแดฟนีหยุดแม้ชั่วขณะหนึ่ง เท่านั้นก็ตามที เธอสัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายเลย นางอัปสรไม่ยอมฟังคำสัญญาหรือวิงวอน ตั้งหน้าแต่รุดหนีอย่างเดียว ฝ่ายอพอลโลก็วิ่งกวด ตามไปโดยไม่ลดละ จนนางแดฟนีเริ่มอ่อนกำลังและตระหนักว่า ฝ่ายไล่กำลังรุกกระชั้นเข้าไปทุกที นางจึงวิ่งหนีกระหืดกระหอบอกสั่นลงยังริมฝั่งแม่น้ำของบิดา ขอให้แปลงร่างนางเสีย หรือบันดาลให้ นางจมลงไปในปฐพี ยังมิทันที่นางจะถึงริมฝั่งน้ำดี นางก็รู้สึกเหมือนหนึ่งตัวเองถูกตรึงติดกับพื้น ด้วย เท้าหยั่งลงในดินเป็นราก ผมและมือก็งอกออกเป็นใบ ส่วนเครื่องคลุมกายกลายเป็นเปลือกไม้ ปกคลุมร่างอันสั่นเทาของนางไป บิดาของนางตอบสนองการที่นางร้องให้ช่วยแล้ว โดยเปลี่ยนนางเป็น ต้นชัยพฤกษ์อยู่ ณ ที่นั้น ฝ่ายอพอลโลตามมาทันไม่เห็นนาง เห็นแต่ต้นไม้ ครั้งแรกเธอไม่รู้สึกเลยว่า สาวเจ้าลับจาก เธอไปแล้ว โดยไม่มีวันจะได้พบอีก แต่เมื่อความจริงเป็นที่ปรากฏดังนั้น เธอจึงมีเทพบรรหารว่า นับ แต่บัดนี้ต้นชัยพฤกษ์ จงเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของเธอ อันคนหลายคนพึงเด็ดช่อใบร้อยพวงมาลา เป็นรางวัลแก่กวีและนักดนตรีสืบไป เรื่องอพอลโลกับนางแดฟนีนี้ นอกจากจะแสดงตำนานของต้นชัยพฤกษ์แล้ว ยังเป็นนิทาน อุปมาถึงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่เกิดเป็นประจำวันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ (อพอลโล) และน้ำค้าง (แดฟนี) อีกโสดหนึ่งด้วย กล่าวคือยามดวงอาทิตย์ทอแสงลงมาเยี่ยมโลกเมื่อรุ่งอรุณ น้ำค้างที่ยังเหลือ อยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า และตามพื้นดินก็หายไปดุจดังนางแดฟนีหนีลับจากอพอลโล ตามท้องเรื่องที่เล่า มาแล้วฉะนั้ ต่อไปนี้จะเล่าตำนานผักตบและต้นสนป่า ตามท้องเรื่องที่เล่าสืบ ๆ มา ในเทพปกรณัมของกรีกว่า อพอลโล มีมนุษย์เป็นเพื่อนที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่งคนหนึ่งชื่อว่า ไฮยาซินทัส (Hyacinthus) และมานพนี้ก็เป็นเพื่อนกับ เสฟไฟรัส (Zephyrus) เทพ ประจำลมตะวันตกด้วย เสฟไฟรัสมีความริษยาสุริยเทพ และเคืองแค้นไฮยาซินทัส ในการที่สนิทสุริยเทพยิ่งกว่าตน วันหนึ่งอพอลโลกับไฮยาซินทัสเล่นทอยห่วงเหล็กกัน เสฟไฟรัสผ่านมาพบเข้า จึงคิดแกล้งให้อพอลโลโทมนัสโดยทำให้ไฮยาซินทัสตายเสีย เสฟไฟรัสก็แกล้งเป่าเหล็กของอพอลโลโดยแรงให้ถูกคู่เล่นล้มลง ฝ่ายอพอลโลเห็นเหตุ นั้นจึงกระทำปฐมพยาบาลห้ามเลือดซึ่งไหลออกจากแผลไฮยาซินทัส แต่เลือดก็หาหยุดไหลไม่ ไฮยาซินทัสทนพิษบาดแผลไม่ได้ จึงสิ้นใจลงในขณะนั้นเอง อพอลโลโทมนัสในการตายของปิยมิตรยิ่งนัก และเพื่อให้เป็นเครื่องระลึกถึงปิยมิตรผู้ตายเธอจึงบันดาลให้เลือดของไฮยาซินทัสที่ตกกองอยู่นั้นเป็นกอดอกไม้ เรียกว่า ไฮยาซิน (ผักตบ) ตามชื่อเจ้าของเลือดตั้งแต่นั้นมา ภายหลังมรณะกรรมของไฮยาซินทัส อพอลโลหันไปคบมนุษย์เป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งเพื่อให้หายโศก มานพนี้เป็นพรานหนุ่มที่เฉลียวฉลาด มีชื่อว่า ไซพาริสสัส (Cyparissus) แต่รายนี้ก็อีก เป็นมิตรภาพที่มีอันต้องสิ้นสุดลงด้วยความเศร้าโศก เป็นข้อยืนยันว่า อพอลโลมีความอาภัพในมิตรภาพ กล่าวคือ ไซพาริสสัส บังเอิญฆ่า ลูกกวางที่อพอลโลเลี้ยงไว้ ให้เสียใจนัก ไม่เป็นอันกินอันนอนจนซูบผอมลงไปทุกที และในที่สุดก็ตายด้วยความตรอมใจ อพอลโลจึงประสาทให้ร่างอันปราศจากชีวิตของ ไซพาริสสัสกลายเป็นต้นสนป่า และบรรหารว่าสืบแต่นั้นให้ต้นสนป่าจงเป็นต้นไม้สำหรับความร่มรื่นให้เกิดแก่หลุมศพของคนผู้เป็นที่รักของญาติมิตรต่อไป หน้าที่สำคัญที่อพอลโลปฏิบัติอยู่เป็นประจำวันนั้นได้แก่ การขับรถพระอาทิตย์ ขึ้นจากฟากมหาสมุทรเมื่อรุ่งอรุณโคจรไปตามสุริยวิถี ผ่านฟากฟ้าโดยไม่หยุดพักเลย จนถึงเรือทองที่จะจอดคอยเธอในทิศตะวันตก เมื่อสิ้นวันแล้วอพอลโลจึงลงเรือกลับคืนตำหนักสู่วังที่ประทับในทิศตะวันออก รอวันใหม่วนเวียนอยู่ดังนี้ทุกวันเป็นเนืองนิตย์ ยังมีนางอัปสรประจำน่านน้ำ ธิดาของโอเชียนัสกับนางเทวีทีธิสชื่อว่า ไคลที (Clytie) นางหลงใหลใฝ่ฝันในเทพอพอลโลอยู่ คอยเฝ้าดูการโคจรประจำวันของสุริย เทพทุกวัน แต่อพอลโลจะไยดีกับนางก็หาไม่ ถึงกระนั้นนางก็เฝ้าดูเธอทุกวัน นับตั้งแต่วาระเมื่อเธอทรงรถออกจากวังยามเช้าไปจนกระทั่งเธอโคจรถึงทะเลฟากตะวันตก โดย ผินหน้าตามไปมิให้อพอลโลคลาดจากสายตา หวังว่าสักวันหนึ่งอพอลโลคงจะบังเกิดความปฏิพัทธ์เสน่หานางบ้าง นางไคลทีสู้ทนเฝ้าคอยอยู่ดังนั้นเป็นเวลานานไม่ยอมละสาย ตาจากอพอลโลไปมองดูอื่น ในที่สุดเทพทั้งปวงมีความสงสาร จึงเปลี่ยนนางเป็นต้นทานตะวันชูดอกผินตามดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ บริวารของอพอลโล อพอลโลมีบริวารที่ควรกล่าวถึงอยู่เหล่าหนึ่ง ได้แก่ คณะศิลปวิทยาเทวี ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Muses เป็นเทวีประจำศิลปวิทยาการต่าง ๆ เกิดแต่ซูสเทพบดีกับนางนีโมซินี (Mnemosyne เทวีครองความจำ) มี 9 องค์ มีชื่อและวิชาการเกี่ยวข้องดังนี้ - ไคลโอ (Clio) ประจำประวัติศาสตร์ - ยูเรเนีย (Urania) ดาราศาสตร์ - เมลโพมีนี (Melpomene) เรื่องโศก(tragedy) - ธะไลอะ (Thalia) เรื่องสรวล (comedy) - เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) การฟ้อนรำ - คัลลิโอพี (Colliope) บทกวีเรื่อง - เออระโต (Erato) บทกวีรัก - ยูเทอร์พี (Euterpe) บทกวีร้อง - โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) บทกวีร่ายอาศิรพจน์ ...แต่บริวารที่ใกล้ชิดเธอที่สุด คือ อีออส (Eos) หรือ ออโรรา (Aurora) เป็นเทวีครองแสงเงินแสงทอง หรืออุษาเทวี ทำหน้าที่เปิดทวารมุกดา ยามอรุณรุ่งให้รถอพอลโลออก โคจร และพร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทอง เป็นสัญญาณเบิกทางโคจรของอพอลโลขึ้นด้วย