วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

เทพ ไดโอนิซัส (Dionysus)


ไดโอนิซัส (dionysus)

หรือ แบกคัส ตามชื่อกรีก ได้รับการยกย่องเป็นเทพองค์หนึ่งในคณะเทพโอลิมเปียน และเป็นที่นับถือของชนทั้งหลายในฐานะเทพผู้พบและครองผลองุ่น ต่อมาเป็นเทพครองน้ำองุ่นตลอดจนความเมาเนื่องจากการดื่มน้ำองุ่นด้วย
ไดโอนิซัส เป็นบุตรของซูสเทพบดี กับนาง สีมิลี ธิดาของแคดมัสผู้สร้างเมืองธีบส์ กับนางเฮอร์ไมโอนี การกำเนิด ของเทพไดโอนิซัสนับว่าน่าสงสารทีเดียว เหตุเพราะความหึงหวงของเจ้าแม่ฮีรา กล่าวคือ
เมื่อเทพปริณายกซูสไปเกิดมีความปฏิพัทธ์พิศวาสนางสีมิลี จึงได้จำแลงองค์เป็นมานพ ลงมาแทะโลมและสมสู่ด้วย ถึง แม้ว่านางจะได้รับแต่คำบอกเล่าของมานพ โดยไม่มีอะไรพิสูจน์ว่ามานพนั้นคือเทพไท้ซูส นางก็พอใจและปิติยินดีไม่ติดใจ สงสัยอันใด ไม่ช้าเรื่องพิศวาสระหว่างซูสเทพบดีกับนางสีมิลีก็แพร่งพรายไปถึงเจ้าแม่ฮีราผู้หึงหวง เจ้าแม่มุ่งมั่นจะให้เรื่องนี้ ยุติเสียทันที
จึงจำแลงองค์เป็นนางพี่เลี้ยงแก่ของสีมิลีเข้าไปในห้องของนาง และชวนคุย พอได้ช่องก็ซักเรื่องเกี่ยวโยงไปถึง เรื่องความรักของนาง และออกอุบายให้นางหลงเชื่อเกี่ยวกับประวัติอันน่าสงสัยของมานพผู้นั้นว่าจะเป็นซูสจำแลงมาจริงหรือไม่ โดยให้มานพนั้นปรากฏกายให้เห็นในลักษณะของเทพเจ้า ซึ่งนางสีมิลีก็หลงเชื่อในที่สุดและตกลงใจที่จะกระทำตามที่พี่เลี้ยง แก่แนะนำ
เมื่อซูสเสด็จลงมาอีก นางสีมิลีจึงหว่านล้อมให้ไท้เธอสาบาน โดยอ้างแม่น้ำสติกซ์เป็นทิพยพยานว่าไท้เธอจะโปรด ประทานฉันทานุมัติตามคำของนางประการหนึ่ง ครั้นไท้เธอสาบานแล้วนางก็ทูลความประสงค์ของนางให้ทราบ ซูสเทพบดีถึงแก่ ตกตะลึงด้วยคิดไม่ถึงว่านางจะทูลขอในข้อฉกรรจ์ถึงเพียงนี้
ไท้เธอตระหนักดีว่า ถ้าไท้เธอสำแดงองค์ให้ปรากฏตามจริง ก็จะ ทำให้นางสีมิลีผู้เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาไม่อาจมีชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ดีไท้เธอก็มีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามสาบานอย่าง เคร่งครัด ไม่มีทางจะบ่ายเบี่ยงได้ ด้วยว่าการละเมิดคำสาบานซึ่งอ้างแม่น้ำสติกซ์อันศักดิ์สิทธิ์เป็นทิพยพยานนั้นย่อมบังเกิดผล ร้ายกับเทพผู้สาบานทุกองค์เหมือนกันหมด ไม่มีที่ยกเว้นแม้แต่องค์เทพบดีซูสเอง
ซูสเนรมิตองค์ให้ปรากฏตามลักษณะประกอบด้วยทิพยาภิสังขารอันเป็นจริง พอนางสีมิลีได้เห็นภาพของไท้เธอ ด้วยตาอันพร่าพราว นางก็ถึงแก่ล้มกลิ้งด้วยไม่อาจทนต่อทิพยอำนาจของไท้เธอได้ และในชั่วพริบตาก็บังเกิดไฟลุกขึ้นเผา ผลาญนางให้วอดวายกลายเป็น จุณไป ในขณะนั้นนางสีมิลีทรงครรภ์อยู่ แม้ซูสไม่อาจช่วยชีวิตของนางไว้ได้ แต่ก็ยังสามารถ ช่วยบุตรได้
ไท้เธอฉวยทารกออกจากไฟฝัง ไว้ในต้นชานุมณฑลของไท้เธอเอง ทารกคงอยู่ในที่นั้นต่อจากที่ได้อยู่ในครรภ์ มารดามาแล้ว จนครบกำหนดคลอด ซูสจึงเอาทารกออก มอบให้นางอัปสรพวกหนึ่งเรียกว่า ไนสยาดีส (Nysiades) เป็นผู้ อนุบาล นางอัปสรพวกนี้เอาใจใส่อนุบาลทารกอย่างทะนุถนอมเป็น อย่างดี ซุสจึงโปรดเนรมิตให้กลายเป็นกลุ่มดาวหนึ่ง เรียกว่า ไฮยาดีส (Hyades) ส่วนทารกน้อยผู้ที่ ถูกนางอัปสรเลี้ยงดู มีชื่อว่า ไดโอนิซัส หรือ แบกคัส นั่นเอง
แม้ว่ากำเนิดแท้จริงของไดโอนิซัสจะเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งเทพ แต่ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นเทพอย่าง สมบูรณ์ มีความเป็น อมฤตภาพเช่นเดียวกับเหล่าเทพสภาอื่น ๆ บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัส แต่ไดโอนิซัสรักที่จะ เดินทางท่องเที่ยวไปบนผืนดินอัน กว้างขวางมากกว่า ไปทางไหนก็นำความชุ่มชื้นแห่งสุราเมรัยติดไปด้วย คนที่มองเห็นคุณความดีของเธอพากันเคารพนับถือ ส่วนคนที่ดูถูกเหยียดหยามมักถูกลงโทษ ในฐานะที่เพิ่ง จะดำรงตำแหน่งเทพ ไดโอนิซัสไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้ คนนับถือสักเท่าใดนัก ครั้นเวลาผ่านไป และคุณกับโทษของเธอเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้น มนุษย์ส่วนใหญ่จึงพากันเคารพนับถือ และสร้างวิหารถวายแด่ เมรัยเทพเป็นการใหญ่
ไดโอนิซัส ทำให้พื้นดินสะพรั่งไปด้วยองุ่นรสเลิศที่ทรงคุณประโยชน์มากหลาย ทำให้ผู้คนอิ่มหนำ และชื่นบาน แต่มีหลายครั้งที่ไดโอนิซัสทำให้คนกลายเป็นวิกลจริตอย่างน่าสมเพช ในจำนวนนี้มีสตรีกลุ่ม หนึ่งซึ่งเรียกว่า เมนาดส์ (Maenads) ซึ่งถูกพิษของเมรัย ทำให้เป็นบ้าหมดสติไปทุกคน ต่างกระโดด โลดเต้นร้องรำทำเพลงไปตามป่าเขาลำเนาไพร อย่างขาดสติ บางครั้งก็มาห้อมล้อมติดสอยห้อยตามไดโอนิซัส ไปด้วย ต่อมาในยุคโรมันเมื่อไดโอนิซัสได้รับชื่อเป็นภาษาละตินว่า แบกคัส (Bacchus) คณานางสติไม่ สมบูรณืเหล่าสตรีก็ได้รับชื่อใหม่ว่า แบกคันทีส(Bacchantes) จึงออกจะเป็นถาพที่ ประหลาดมากที่ชาย หนุ่มรูปงามคนหนึ่งจะเดินทางไปไหน ๆ โดยแวดล้อมด้วยผู้หญิงบ้า
เรื่องราวความรักของไดโอนิซัสก็มีบ้าง แต่เป็นรักที่ลงเอยด้วยความเศร้าสลด คือเธอไปพบและช่วยเหลือนาง อาริแอดนี่ (Ariadne) ธิดาเจ้ากรุงครีตไว้ได้ อาริแอดนี่ ธิดาของท้าว ไมนอสแห่งนตรครีต ซึ่งเลี้ยงอสูรร้ายชื่อ มิโนทอร์เอาไว้ใต้ดิน เมื่อวีรบุรุษ ธีลิอัสเดินทางไปครีตเพื่อเป็นเหยื่อแก่มิโนทอร์ นวลอนงค์ก็เกิดมีใจปฏิพัทธ์กับเจ้าชาย หนุ่ม จึงหาทางช่วยเหลือและพาหนีออกเกาะครีตได้สำเร็จ แต่ทว่านางถูกทอดทิ้งไว้เดียวดายบนเกาะร้างแห่งหนึ่ง ไดโอนิซัส ไปพบเข้าจึงเกิดความสงสารและรักนาง แต่รักได้ไม่นาน อาริแอดนี่ก็ตายลง ไดโอนิซัสสุดเสียใจนัก จึงไม่มีรักใหม่อีกเลย
ตัวของไดโอนิซัสเองก็มีชีวิตแสนเศร้าพอ ๆ กับรักของเธอเอง ใครคิดบ้างว่าเทพที่มีกายเป็นอมฤตภาพก็มีโอกาส ตายได้เช่นกัน นักกวีชาวกรีกโบราณเขาเขียนขึ้นตามความเป็นจริงของต้นองุ่น
กล่าวคือ เมื่อถึงฤดูเก็บองุ่น ชาวบ้านจะฟันเอากิ่งที่มีองุ่นติดเต็มไปหมด เหลือไว้แต่ต้นโดดเดี่ยว มองดูแล้วน่า สะพรึงกลัว เพราะมีแต่ลำต้นลุ่น ๆ ปราศจากกิ่งก้านสาขา แต่ไม่นานเมื่อเวลาผ่านไป ต้นองุ่นก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับแตกแยก กิ่งก้านและใบสวยงาม ต่อจากนั้นก็ผลิดอกออกผลเป็นที่เจริญตาอีกครั้ง
ฉันใดฉันนั้นเทพไดโอนิซัส ตามตำนานกล่าวว่า เธอถูกยักษ์เผ่าวงศ์ไทแทน ทำร้ายอย่างน่าสยองขวัญด้วยการฉีก ร่างออกเป็นชิ้น ๆ ก็ดั่งต้นองุ่นที่ถูกตัดกิ่งก้านเพื่อเก็บผลของมัน แต่ไม่นานนัก เทพไดโอนิซัสก็จับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ก็ ในเวลาที่เธอฟื้นจากความตายนี่แหละ ที่ใคร ๆ ทั้งเทวดาและมนุษย์ต่างก็ชื่นชมยินดี และจัดงานรื่นเริงฉลองรับขวัญกัน เอิกเกริกและจากการตายนี้เอง ไดโอนิซัสได้ช่วยเหลือมารดาที่เธอไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนจากหัตถ์ของยมเทพ และนำ ขึ้นสถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นโอลิมปัสได้อย่างปลอดภัย
เรื่องมีอยู่ว่า เทพไดโอนิซัส ได้ติดตามหามารดาในปรโลก เมื่อพบแล้วเธอก็ขอนางคืน มาจากยมเทพฮาเดส แต่มัจจุราชไม่ยินยอม จนเกิดการโต้เถียงกันว่าใครจะเหนือกว่าใคร ไดโอนิซัสบอกคำเดียวว่า ตนนั้นเหนือกว่ามัจจุราช เพราะเธอสามารถตายแล้วคืนชีพได้อีก ไม่ เคยมีเทพองค์ใดกระทำได้อย่างเธอเลย เทพฮาเดสเห็นจริงตามนั้น ก็ยอมมอบนางสิมิลีให้บุตร ชายพาออกจากแดนบาดาลไป เทพไดโอนิซัสจึงพามารดาขึ้นสวรรค์บนโอลิมปัส ที่นั่นเหล่าเทพ น้อยใหญ่ต่างต้อนรับนางสิมิลีเป็นอย่างดี โดยที่นางเป็นอมตขนคนเดียวที่อยู่ท่ามกลางอมตเทพ ทั้งปวงและฮีร่าเทวีก็ทำอะไรมิได้อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น